รพ.จิตเวชโคราช 12 เม.ย..-รพ.จิตเวชโคราชจัดงานสงกรานต์ให้“ผู้ป่วยจิตเวช” คลายคิดถึงบ้าน ด้วยการสรงน้ำพระ เขียนการ์ดอวยพรปีใหม่ไทยให้พ่อ แม่ เพื่อน และจัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุ ชโลมความชุ่มฉ่ำใจ ช่วยให้การฟื้นตัว ฟื้นใจดีขึ้น
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติและเป็นเทศกาลสงกรานต์ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯจะจัดกิจกรรมให้ผู้ป่วยจิตเวชที่นอนพักรักษาตัววันละประมาณ 270 คน ส่วนใหญ่ป่วยจากโรคจิตเภทและซึมเศร้า ได้มีโอกาสร่วมสืบสานประเพณีสำคัญเหมือนประชาชนทั่วไป และคลายความคิดถึงบ้าน โดยจัดให้มีการสรงน้ำพระที่หอผู้ป่วย และร่วมรับประทานอาหารกลางวันด้วยกันระหว่างผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่ รวมทั้งยังได้จัดให้ผู้ป่วยจิตเวชอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูด้านจิตใจและสังคมให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ ได้เขียนการ์ดอวยพรเนื่องในวันปีใหม่ไทยเพื่อมอบให้พ่อแม่ เพื่อน หรืออวยพรให้ตัวเอง เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีต่อครอบครัว บุพการี สร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยหันมาดูแลตัวเองให้อาการทุเลาหายป่วย
สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งมีประมาณ 30 คน ส่วนใหญ่ประมาณ 2 ใน 3 มีอาการทางจิตสงบดีขึ้นแล้ว ฝ่ายการพยาบาลได้จัดพิธีรดน้ำดำหัวเป็นกรณีพิเศษ สร้างบรรยากาศเหมือนอยู่ที่บ้าน โดยให้ญาติ ลูกหลานที่มาเยี่ยม รวมทั้งผู้ป่วยจิตเวชด้วยกันที่อาการดีแล้ว และบุคลากรที่ปฏิบัติงาน ได้ร่วมรดน้ำขอพร ซึ่งจะส่งผลดีต่อการสร้างคุณค่าทางจิตใจ เชิดชูเกียรติให้ผู้ป่วยสูงอายุโดยเฉพาะศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เกิดความชุ่มฉ่ำใจ รวมทั้งฟื้นฟูทักษะด้านสังคมคือการมีส่วนร่วมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทย เป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ป่วยจิตเวชอาจขาดโอกาสการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทั้งจากข้อจำกัดการเจ็บป่วย รวมทั้งการยอมรับจากเพื่อนบ้าน ชุมชน สังคมด้วย กิจกรรมทั้งหมดนี้จะส่งผลให้การฟื้นตัว ฟื้นใจของผู้ป่วยจิตเวช ดียิ่งขึ้น
“ เทศกาลสงกรานต์ปีหน้านี้ มีแนวคิดจะให้ผู้ป่วยจิตเวชทุกคนได้สวมเสื้อลายดอกหรือลายผ้าขาวม้าเหมือนเจ้าหน้าที่ เพื่อฟื้นฟูทักษะความทรงจำและสร้างการมีส่วนร่วมสืบสืบสานเทศกาลประเพณีปีใหม่ของไทย เตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจและสังคมก่อนกลับคืนสู่ชุมชน โดยจะมอบให้เป็นของขวัญพิเศษแก่ผู้ป่วยสูงอายุด้วย ทั้งนี้ผลจากการจัดพิธีสงกรานต์ในเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา พบว่าช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวช โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มีความรู้สึกดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสุขใจขึ้น ส่งผลดีต่อการฟื้นคืนสู่สภาพปกติเหมือนก่อนป่วยได้เร็วขึ้น ส่วนญาติรู้สึกประทับใจในกิจกรรมและบุคลากรที่ให้บริการดูแลเสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน” นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว.-สำนักข่าวไทย