กรมศิลปากร 25 มี.ค.-กรมศิลป์ ครบรอบ108ปี แห่งการสถาปนา เปิดตัวห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรหลังปรับปรุงครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี พร้อม นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้อธิบายข้อมูลอย่างน่าสนใจ
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดงาน 108 ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร ที่ห้องดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และเปิดนิทรรศการ “หนึ่งจังหวัด…หนึ่งสุดยอดมรดกศิลปวัฒนธรรม” พร้อมทั้งเยี่ยมชมการออกร้าน Creative Fine Arts ของหน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากร โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร และประชาชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้พัฒนาและปรับเปลี่ยนโครงสร้างของหน่วยงานตามความเหมาะสม เพื่อรองรับภารกิจในการดูแล รักษาและอนุรักษ์งานมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติโดยขับเคลื่อนภารกิจให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงมีนโยบายให้ความร่วมมือกับต่างประเทศ เนื่องในโอกาส 108 ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อนำเสนอผลงานสำคัญของกรมฯให้ประชาชนได้รับทราบอย่างกว้างขวาง โดยตลอดทั้งปีที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค รวมถึงการจัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่ผลงานและองค์ความรู้สู่ประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจ ตระหนัก รัก และหวงแหนมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ร่วมเป็นเครือข่ายในการอนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่สืบไป
นอกจากนี้จัดเสวนาทางวิชาการ เรื่องคุณค่าอัน โดดเด่นของศรีเทพและพนมรุ้งกับการเข้าสู่มรดกโลกและเปิดตัวห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวร 12 ห้อง ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร หลังดำเนินการปรับปรุงห้องจัดแสดง ภายใต้โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า) มาตั้งแต่ปี 2555 ถือเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ในรอบ20-30 ปี ได้แก่ การจัดแสดงศิลปะงานช่างหลวงในส่วนอาคารหมู่พระวิมาน จำนวน 10ห้อง และห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี สมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์อีก 2 ห้อง
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อไปว่า สำหรับห้องจัดแสดงนิทรรศการใหม่นี้ ออกแบบภายใต้แนวคิดหลักในการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของแท้ ของจริง แสดงคุณค่าผลงานชิ้นเอกของมนุษยชาติบนผืนแผ่นดินไทย ในแต่ละยุคสมัย รักษาและแสดงรูปแบบสถาปัตยกรรมภายใน พระที่นั่ง องค์ต่างๆ จัดวางวัตถุพร้อมออกแบบไฟจัดแสดงให้ผู้ชมเห็นความงาม 360 องศา มีการนำเทคโนโลยี เข้ามาใช้ในการสื่อสารเนื้อหาจากตัววัตถุแก่ผู้ชมอย่างพอเหมาะ โดยไม่รบกวนการจัดแสดงความงามของวัตถุ ได้แก่ ทัชสกรีน วีดิทัศน์ และแอพพลิเคชั่น QR-Code AR-Code จึงอยากเชิญประชาชนให้มาเยี่ยมชม ซึ่งจะได้สัมผัสกับความงามของพิพิธภัณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่อย่างสมบูรณ์และเพลิดเพลินกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำเข้ามาเสริมในการให้ความรู้ระหว่างชมเข้าชมด้วย .-สำนักข่าวไทย