กทม. 8 มิ.ย.-กรมศิลปากร จัดเวทีเสวนาเข้าใจจินดามณี ตำราแบบเรียนไทยเล่มแรก ต้นแบบหนังสือแบบเรียนในยุคต่อมา สะท้อนคุณค่าทางประวัติศาสตร์และอักษรศาสตร์ไทย
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานเปิดการเสวนา เรื่อง“เข้าใจจินดามณี”จัดโดยกลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจเนื้อหาสาระความรู้และตระหนักในคุณค่าความสำคัญของหนังสือแบบเรียนไทยเรื่องจินดามณี ซึ่งสันนิษฐานว่าใช้เป็นตำราการเรียนการสอนหนังสือไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งนอกจากจะมีคุณค่าในฐานะตำราแบบเรียนไทยเล่มแรกยังเป็นต้นแบบของหนังสือแบบ เรียนไทยที่แต่งขึ้นในชั้นหลังและมีคุณค่าในฐานะตำราประพันธศาสตร์ รวบรวมตัวอย่างและวิธีการแต่งคำประพันธ์ด้วยฉันทลักษณ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก
การเสวนาเริ่มต้นด้วยการสวดทำนองหลวง โดยนายประสาท ทองอร่าม หรือครูมืด ผู้ชำนาญการ ด้านนาฏศิลป์ไทยและคณะ ที่นำเอาบทหนึ่งในหนังสือจินดามณีมาขับร้องบทสวดหลวงได้อย่างไพเราะ
นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ กรมศิลปากร และ ผศ.ธเนศ เวศร์ภาดา อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิทยากรผู้ร่วมเสนา ได้สะท้อนคุณค่าทางวรรณกรรมของหนังสือจินดามณีให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้รับความรู้จากหนังสือแบบเรียนไทยในสมัยโบราณ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์เผย องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจะช่วยให้คนไทยตระหนักในคุณค่ามรดกวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะด้านภาษาและวรรณกรรม ตลอดจนจนความสำคัญของการรักษาและสืบทอดหนังสือแบบเรียนไทยไว้เป็นมรดกของชาติ
สำหรับหนังสือ “จินดามณี” มีมากมายหลายฉบับด้วยกัน ซึ่งกลุ่มภาษาและวรรณกรรม ได้ดำเนินการตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือ“จินดามณี”ฉบับต่างๆ สืบเนื่องมาตั้งแต่พุทธศักราช 2558 ได้แก่ ฉบับความแปลก ฉบับพระเจ้าบรมโกศ ฉบับจุลศักราช 1144 ฉบับเล่ม 1 หรือฉบับพระโหราธิบดีแต่ง ฉบับใหญ่บริบูรณ์ และฉบับสมเด็จพระปรมานุชิต และจากการที่ละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” นำเสนอ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้แบบเรียนไทยเรื่องจินดามณี โดยเฉพาะ ฉบับพระโหราธิบดี เป็นที่สนใจของประชาชน .-สำนักข่าวไทย