กทม.28 ก.พ.-อธิบดีกรมศิลปากร แจงการขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองพิมาย จ.นครราชสีมา หลังมีประชาชนร้องเรียน ได้รับความเดือดร้อนจากการประกาศเขตโบราณสถานของกรมศิลปากร
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม แถลงข่าวการขึ้นทะเบียนโบราณ สถานเมืองพิมาย ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ตามที่มีกระแสร้องเรียนเกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตโบราณสถานเมืองพิมายของกรมศิลปากร ว่า กรมศิลปากรได้จัดทำบัญชีโบราณสถานและประกาศชื่อโบราณสถานเมืองพิมายในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 ก.ย.2479 เพื่อกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ซึ่งพ.ร.บ.โบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 2504 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 8 กำหนดไว้ว่า บรรดาโบราณสถาน ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรได้จัดทำบัญชีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุและการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อไปว่า ด้วยสภาพการณ์ปัจจุบันอันเป็นผลมาจากคุณค่าความสำคัญและความสมบูรณ์ของปราสาทหินพิมาย ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจ.นครราชสีมา ทำให้เมืองพิมายมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีการขยายเมืองอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองโบราณสถานเมืองพิมาย กรมศิลปากรจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมายให้ชัดเจนเพื่อควบคุมดูแลโบราณสถานไม่ให้ถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมค่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งในการควบคุมดูแลโบราณสถานไม่ให้ถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมค่า ซึ่งพ.ร.บ.โบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 2504แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2) พ.ศ.2535มาตรา7ให้อธิบดีกรมศิลปากรมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนโบราณสถานใดๆ ตามที่อธิบดีเห็นสมควรได้และให้มีอำนาจกำหนดเขตที่ดินตามที่เห็นสมควรเป็นเขตของโบราณสถาน โดยให้ถือว่าเป็นโบราณสถานด้วย ในขั้นตอนการดำเนินการกรมศิลปากรได้มีการประชุมและศึกษาแนวทางการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2550 และได้ทำหนังสือกรมศิลปากรที่ วธ 0403/4206 ลงวันที่ 16 กันยายน 2559 เรื่องการกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมายแจ้งเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมาย จำนวน 1,665 ราย เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการเตรียมการประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมายโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.โบราณสถานพื้นที่ประมาณ 2,658 ไร่ 25 ตารางวา ซึ่งหากเจ้าของ หรือ ผู้ครอบครองที่ดินไม่เห็นด้วย หรือมีข้อโต้แย้งประการใด ให้แจ้งมายังกรมศิลปากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่กรมศิลปากรแจ้งให้ทราบ
จากนั้นกรมศิลปากรได้จัดประชุมชี้แจงกรอบแนวทางและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเมื่ออวันพุธที่23 พ.ย.2559 ณ ลานเมรุพรหมทัต เมืองพิมาย ซึ่งมีชาวบ้านเข้าร่วมกว่า 500 คน ต่อมาได้ทำ หนังสือกรมศิลปากรที่ วธ 0402/3315 ลงวันที่ 16 ต.ค.2560 เรื่องการกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมายแจ้งเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมาย จำนวน1,665 ราย เพื่อแจ้งการประกาศกำหนดเขตที่ดินเป็นเขตของโบราณสถานเมืองพิมาย ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา พื้นที่ประมาณ 2,658 ไร่ 25 ตารางวา โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา7 แห่ง พ.ร.บ.โบราณสถานฯ หากผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่เห็นด้วยก็ให้ใช้สิทธิร้องต่อศาลปกครองภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่อธิบดีกรมศิลปากรแจ้ง ให้ทราบ
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย และมิได้กระทบสิทธิประชาชนหรือให้ผู้อยู่อาศัยออกไปจากพื้นที่แต่อย่างใด แต่เป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของสาธารณะและปกป้องคุณค่าความสำคัญของโบราณสถาน รักษามรดกวัฒนธรรมของประเทศให้ส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป
สำหรับเมืองพิมายเป็นเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกำแพงเมืองและคูเมืองล้อมรอบ มีปราสาทหินพิมายเป็นศาสนสถานสำคัญตั้งอยู่กลางเมือง สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนามหายานตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่16-18
โดยเมืองพิมายนี้มีพัฒนาการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องมาสมัยประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทวารวดี และมีความเจริญสูงสุดในช่วงวัฒนธรรมเขมร นอกจากปราสาทพิมายแล้ว เมืองพิมายยังประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญหลายแห่งได้แก่ สระน้ำโบราณ (สระเพลง สระแก้ว สระขวัญ สระโบสถ์ สระช่องแมว) เมรุพรหมทัต กุฏิฤาษี ท่านางสระผม ถนนโบราณเชื่อมต่อจากปราสาทไปยังด้านหน้าเมืองอันเป็นที่ตั้งของบารายใหญ่ด้านทิศใต้.-สำนักข่าวไทย