กรมสรรพากร 19 มี.ค. – กรมสรรพากรระบุการโอนทรัพย์ให้กองทุนบริหารต้องเสียภาษีตามกฎหมาย พร้อมจับมือกรมบังคับคดีเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลล้มละลายและนำส่งอากรแสตมป์การขายทอดตลาดทรัพย์สิน
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โอนทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท ให้บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร เป็นผู้ดูแลจัดการ โดยไม่มีอำนาจสั่งการ หรือยุ่งเกี่ยว จนกว่าจะพ้นจากการเมือง 3 ปี หรือที่เรียกว่า Blind trust นั้น ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่ง trust ใด ๆ ก็ตามจะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้ โดยขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับกอง trust ดังกล่าว ต้องพิจารณารายละเอียด MOU ว่าระบุไว้อย่างไร ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ Blind trust หรือ private fund ก็ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย
ทั้งนี้ อธิบดีกรมสรรพากรและนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจัดเก็บอากรแสตมป์แทนกรมสรรพากร สำหรับตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์สิน และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือพิพากษาให้ล้มละลาย ซึ่งบันทึกข้อตกลงและบันทึกความเข้าใจดังกล่าว กรมบังคับคดีจะนำส่งค่าอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ซึ่งจัดเก็บจากการกระทำตราสารที่เกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์สินเป็นรายได้แผ่นดินแทนกรมสรรพากร ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอน ระยะเวลา และต้นทุนในการดำเนินงานของ 2 หน่วยงาน ขณะที่กรมสรรพากรจะเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมบังคับคดีในส่วนของบุคคลที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือพิพากษาให้ล้มละลายผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 สนับสนุนการดำเนินงานของกรมบังคับคดีได้อีกทางหนึ่ง
นายเอกนิติ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐ ตลอดจนเป็นการเปลี่ยนผ่านกระบวนการทำงานของภาครัฐเป็นดิจิทัล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมสรรพากร D2RIVE ในด้าน Digital Transformation เป็นการปรับปรุงบริการของกรมสรรพากรให้ก้าวทันกับพลวัตทางเทคโนโลยี และการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่น ช่วยให้การปฏิบัติงานมีความรวดเร็ว ถูกต้อง และลดต้นทุนในการดำเนินงานของภาครัฐ
ด้าน ก.ล.ต. ระบุว่า การที่บุคคลทั่วไปประสงค์จะจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคล เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินก็สามารถทำได้ โดยแต่งตั้งบริษัทที่มีใบอนุญาตจัดการกองทุนส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม หากเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งรัฐมนตรีการดำเนินการลักษณะดังกล่าวต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ซึ่งบริษัทที่รับจัดการทรัพย์สินของรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว โดยไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. . – สำนักข่าวไทย