กรุงเทพฯ 15 มี.ค. – ธุรกิจไฟฟ้าคึกคัก จีพีเอสซีมองแผนควบรวมต่อหลังซื้อโกลว์เสร็จสิ้นกลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ 1 ใน 3 ของประเทศ ล่าสุดซื้อโซลาร์ฟาร์มอีก 40 เมกะวัตต์ ส่งผลทำให้มีกำลังผลิตในมือกว่า 5 พันเมกะวัตต์
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า วานนี้ (14 มี.ค.) ทางจีพีเอสซีได้จ่ายเงินซื้อหุ้นบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ในสัดส่วนร้อยละ 69.11 ราคา 91.9906 บาทต่อหุ้น วงเงินรวม 93,000 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนจากนี้ไปเตรียมแผนการดำเนินการในขั้นตอนการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือจากรายย่อย (Tender Offer ) สัดส่วนประมาณ ร้อยละ 30.89 ของหุ้นทั้งหมดของ GLOW ราคาเดียวกันกับการซื้อขายหุ้นระหว่าง GPSC และ ENGIE Global Developments B.V. แต่ทั้งนี้ราคาดังกล่าวจะมีการปรับลดลง หาก GLOW มีการกำหนดสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นในการได้รับเงินปันผล หรือสิทธิใด ๆ ต่อผู้ถือหุ้น โดยการกำหนดสิทธิดังกล่าวเกิดก่อนสิ้นสุดระยะเวลาการทำคำเสนอซื้อ ราคาเสนอซื้อหุ้นของ GLOW จะปรับลดลงในจำนวนเงินเทียบเท่าเงินปันผล หรือสิทธิ์ต่าง ๆ ดังกล่าว และผู้ถือหุ้นที่แสดงเจตนาขายจะได้รับสิทธิ์เงินปันผล หรือสิทธิ์ต่าง ๆ ดังกล่าวของ GLOW โดยคาดว่าจะสามารถยื่นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการวันที่ 22 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หากรายย่อยขายทั้งหมดจีพีเอสซีต้องใช้เงินซื้อหุ้นอีก 40,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ดีลนี้มีวงเงินรวม 130,000 ล้านบาท
“หากรายย่อยมีการขายหุ้นและทำให้จีพีเอสซึถือหุ้นโกลว์ครบร้อยละ 80 ก็จะต้องทำเรื่องเพิกถอนหุ้นโกลว์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ ขั้นตอนเร็วสุดก็จะเป็นปลายนี้ และบริษัทยังมีแผนซื้อกิจการเพื่อขยายธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการลงทุนตามแผนผลิตไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี หรือพีดีพี โดยขณะนี้เจรจาซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศ 9 แห่ง รวม 40 เมกะวัตต์แล้วลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท รอเพียงการการเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)” นายชวลิต กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากควบรวมกับโกลว์อีก 2,770 เมกะวัตต์ แล้วกำลังผลิตของจีพีเอสซีในมือก็จะเพิ่มจาก 1,955 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 4,726 เมกะวัตต์ กลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ โดยนับจากนี้จะมีการวางแผนยุทธศาสตร์การผลิตไฟฟ้าร่วมกัน โดยใช้จุดแข็งของโกลว์ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ด้านเอสพีพี ขณะที่ จีพีเอสซีเป็นบริษัทเรือธงของกลุ่ม ปตท.ในร่วมงานกันต่อไป โดยปี 2561 นั้น จีพีเอสซีมีกำลังสุทธิประมาณ3,300 ล้านบาท ขณะที่โกลว์มีกำไรสุทธิประมาณ 8,000 ล้านบาท
สำหรับกำลังผลิตใหม่ของจีพีเอสซีปีนี้จะเข้าใหม่อย่างน้อย 432 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าใน สปป.ลาว 2 โครงการ คือ ไซยะบุรีที่บริษัทถือหุ้นอยู่ร้อยละ 25 หรือ 321 เมกะวัตต์, น้ำลิก บริษัทถือหุ้นร้อยละ 40 หรือ 26 เมกะวัตต์ ,โครงการโซลาร์ฟาร์ม 40 เมกะวัตต์ โครงการสาธารณูปโภคโรงที่ 4 (CUP4 )ในนิคมฯ มาบตาพุด 45 เมกะวัตต์ ขณะที่โครงการในมือ เช่น โรงไฟฟ้าใหม่ในโครงการขยายกำลังกลั่นของไทยออยล์ 250 เมกะวัตต์ ก็จะทำให้กำลังผลิตในมือโดยรวมจะมีกว่า 5,000 เมกะวัตต์
ส่วนวงเงินซื้อโกวล์ 93,000 ล้านบาท มาจากบริษัทแม่ คือ บมจ.ปตท.และ บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอล 35,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการกู้ระยะสั้นจาก 5 ธนาคาร ระยะเวลา 1 ปี หลังจากนี้ บริษัทกำลังจัดหาแหล่งระดมทุนเป็นหนี้ระยะยาว และเพิ่มทุนประมาณไม่เกิน 74,000 ล้านบาท โดยจะประกาศแผนเพิ่มทุนชัดเจนปลายไตรมาส 2 นี้ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนึ้ต่อทุนจะลดลงจาก 3 เท่า เหลือไม่เกิน 1 เท่าตัว
“นโยบายของจีพีเอสซีจะเติบโตไปกับกลุ่ม ปตท. ขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ พัฒนานวัตกรรมทั้งพลังงานทดแทน ไมโครกริด การสำรองไฟฟ้า(เอนเนอร์ยีสตอเรจ) ซึ่งได้ร่วมมือกับจีซี , พีทีทีโออาร์ หน่วยงานรัฐและเอกชนอื่น ๆ โดยในส่วนของการลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่นั้น จะลงทุนเมื่อใดต้องรอผลการทดสอบเชิงพาณิชย์ของบริษัทร่วมทุนคือ 24 M” นายชวลิต กล่าว. -สำนักข่าวไทย