13 มี.ค.-ภัยแล้ง ปัญหาใหญ่ที่ต้องหาทางรับมือและแก้ไขอย่างจริงจัง ขณะที่ปีนี้มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น แนะประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด
อ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ปริมาณน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว เหลือน้ำใช้การได้ในเกณฑ์น้อยมาก เพียง 0.9 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ ร้อยละ 15 ของความจุ 6.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำที่เหลือน้อย ทำให้เกิดสันดอนดินแนวราบ กินพื้นที่กว้างบริเวณริมฝั่ง เป็นสัญญาณว่าแนวโน้มจะเกิดปัญหาภัยแล้งถึงขั้นรุนแรง ขณะที่ชลประทานนครราชสีมา ปิดการระบายน้ำลงสู่พื้นที่ด้านล่างอย่างสิ้นเชิง พร้อมขอความร่วมมือชาวนา งดทำนาปรังในเขตชลประทานกว่า 1,800 ไร่ เพื่อสงวนน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภคเท่านั้น
ไม่ต่างกับที่จังหวัดยโสธร ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำชี ที่บ้านดอนขะยอม อำเภอคำเขื่อนแก้ว เชื่อมต่อไปยังอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ระดับน้ำลดจนเห็นตอหม้อสะพานทั้งหมด และมีสันทรายโผล่ขึ้นมาเป็นแนวยาว ชาวบ้านและสัตว์เลี้ยง สามารถเดินลงไปกลางแม่น้ำชีได้อย่างสบาย ด้านชลประทานจังหวัดยโสธร แจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง และใช้น้ำกันอย่างประหยัด
หลายจังหวัดภาคเหนือประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน ที่อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ลำคลองสาขาที่รองรับน้ำจากเทือกเขา เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน ขณะนี้ปริมาณน้ำลดลงจนแห้งขอด ทำให้น้ำประปาหมู่บ้านที่จ่ายตามบ้านเรือนไม่เพียงพอต่อการใช้อุปโภค -บริโภค ประชาชนบางส่วนต้องหาซื้อน้ำที่มีผู้ประกอบการบริษัทเอกชนนำเข้ามาจำหน่ายถึงในหมู่บ้าน เพื่อนำไปใช้อุปโภค-บริโภค ภายในครัวเรือน.- สำนักข่าวไทย