รพ.จุฬาฯ 11 มี.ค.-แพทย์แนะวัยรุ่น คนทำงาน วัยชรา นอนหลับให้มีคุณภาพอย่างน้อย 5-7 ชั่วโมงต่อวัน ลดโรค ลดความเสี่ยงนกเขาไม่ขัน
ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาคมโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมวันนอนหลับโลก “WORLD SLEEP DAY 2019 ;HEALTH SLEEP,HEALTHY AGING นอนหลับสนิท ชีวิตยืนยาว”เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการนอนหลับและโรคต่างๆที่เกิดตามมาจากการนอนไม่หลับ ในงานนอกจากจะมีนิทรรศการให้ความรู้เรื่องการนอนไม่หลับ นอนกรนแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่คอยอบรมให้คำปรึกษาเรื่องการนอนอีกด้วย โดยงานจัดบริเวณระเบียงรมณีย์ ชั้น 14 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.เริ่มตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 15 มี.ค.
พญ.อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ นายกสมาคมโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับเริ่มเห็นผลและมีจำนวนผู้ที่มีปัญหาเพิ่มมากขึ้น แม้ในไทยจะยังไม่มีการจดบันทึกสถิติเป็นตัวเลขชัดเจน แต่หากเทียบจากทั่วโลก กลุ่มวัยรุ่นถึงวัยชรา มีปัญหานอนไม่หลับมากเกินกว่าร้อยละ 30 ของประชากรกลุ่มนี้ เนื่องจากปัจจัยหลักๆที่คนทั่วโลกต้องเจอและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทั้งเรื่องงาน ความรัก การเรียนหรือแม้กระทั่งเทคโนโลยี สื่อสังคมออนไลน์ที่ดึงความสนใจของคนในกลุ่มวัยทำงาน วันรุ่นวัยเรียน หรือแม้แต่วัยชรา ส่งผลให้เวลาการนอนลดลง
พญ.อรุณวรรณ กล่าวต่อว่า ผลวิจัยทางการแพทย์ กลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน หรือคนชรา ต้องนอนให้ได้อย่างน้อย 7ชั่วโมงต่อวันจะเป็นผลดีต่อร่างกาย แต่ในความเป็นจริง ปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาในข้างต้นทำให้ไม่สามารถทำได้ในความเป็นจริงทำได้ยาก แพทย์จึงแนะนำนอนให้ได้อย่างน้อยๆ 5 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการนอนต้องเป็นการนอนหลับที่มีคุณภาพคือต้องหลับสนิท ไม่มีอาการตื่นระหว่างการนอนและตื่นมาแล้วจะรู้สึกสดใสไม่งัวเงีย จะถือว่าหลับอย่างมีคุณภาพ สิ่งที่ตามมาจากการหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ จะทำให้มีความจำที่ดี อารมณ์แจ่มใส มีภูมิต้านทานโรคที่ดีขึ้น แต่หากทำไม่ได้ผลร้ายที่ตามมา มีมากมาย ที่เห็นได้ชัดคืออารมณ์หงุดหงิด แปรปรวนง่าย สมาธิสั้น รวมทั้งความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน สมองเสื่อม และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศทั้งในหญิงและชายด้วย
นอกจากนี้อาการนอนไม่หลับยังมีความเชื่อมโยงนำไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย แต่ข้อมูลจากเพจต่างๆ ที่นำเสนอว่านอนไม่หลับติดต่อกัน 3 วันจะเสี่ยงนั้น ไม่เป็นความเริง ขอชี้แจงว่าอาการนอนไม่หลับ 1 คืนหรือ 2 คืนแล้วจะมีความเสี่ยงโรคซึมเศร้า ต้องมีปัญหาการนอนอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ นานติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือนถึงจะวินิจฉัยได้ว่า มีภาวะเสี่ยง ทั้งนี้โรคซึมเศร้าก็ยังมีอาการอื่นๆ อีกหลายอย่างมาเกี่ยวข้องจึงจะวินิจฉัยได้ ขอให้สบายใจได้
สำหรับเทคนิคง่ายๆ ที่จะช่วยทำให้นอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ พญ.อรุณวรรณ แนะนำว่าต้องเข้านอน ตื่นนอนให้เป็นเวลา, ห้องนอนต้องมืด เงียบและเย็นสบาย, ทำสมองให้ปลอดโปร่งไม่เครียดก่อนนอน, หลีกเลี่ยงการเล่นอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด รวมถึงการกินอาหาร ดื่มกาแฟ เครื่องดื่มแอล กอฮอลล์ หรือการออกกำลังกายหนักๆ ก่อนนอน หากมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับสามารถปรึกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับใด้ที่ รพ.จุฬาฯ มีคลินิก CBT-I เป็นศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนแห่งแรกของไทย รวมถึงโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศตอนนี้มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้คอยให้คำแนะนำแล้ว.-สำนักข่าวไทย