สธ.15 มี.ค.-เนื่องในวันนอนหลับโลก(15มี.ค.) เผยสถานการณ์ปัญหานอนไม่หลับหรือหลับไม่เพียงพอของคนไทยน่าห่วง คาดมีถึง19ล้านคน แต่ยังขาดความเข้าใจ ซื้อยาหรือเอายาจากคนป่วยมากินรักษาเอง ไม่ได้ผล แถมเสี่ยงอันตรายโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า แนะให้รีบพบแพทย์
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ (15มี.ค.) เป็นวันนอนหลับโลก ซึ่งการนอนหลับมีความสำคัญต่อชีวิต ส่งผลดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต และปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับหรือนอนหลับไม่เพียงพอเป็นเรื่องใกล้ตัวที่จะต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ซึ่งทางการแพทย์เรียกปัญหานี้ว่า ‘อินซอมเนีย ( insomnia )’ พบได้ทุกช่วงวัยมากถึงร้อยละ 30-40 ของประชากร คาดว่าทั่วโลกมีผู้เผชิญปัญหานี้ประมาณ 2,000 ล้านคน ส่วนไทยคาดว่าจะมีประมาณ 19 ล้านคน ส่วนใหญ่จะเกิดแบบช่วงสั้นๆ โดยมีประมาณร้อยละ 10 ที่เป็นแบบเรื้อรังคือมีปัญหานอนไม่หลับมานานกว่า 3 เดือน ซึ่งการนอนไม่หลับนี้เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียด อารมณ์หงุดหงิด ไม่มีสมาธิได้
นพ.กิตต์กวี กล่าวต่อไปว่า ในคนทั่วไปสามารถเกิดอาการนอนไม่หลับได้สัปดาห์ละ 1-2 คืน ถือว่าเป็นเรื่องปกติแต่ในรายที่ผิดปกติจะมีปัญหาติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์และต่อเนื่อง ลักษณะอาการที่พบบ่อยได้แก่ 1.นอนไม่หลับหรือหลับลำบาก 2.หลับไม่สนิท 3.ตื่นขึ้นมากลางดึกหรือหลับๆตื่นๆ 4.ตื่นเร็วกว่าปกติ และ 5.ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น ซึ่งชาวบ้านมักจะเปรียบเปรยผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับว่า ขอบตาดำเหมือนหมีแพนด้า เนื่องจากการไหลเวียนเลือดไม่ดี ปัญหานี้ทางการแพทย์จัดว่าไม่ใช่ตัวโรค แต่เป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์
สำหรับสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับมีหลายประการ ทั้งจากโรคทางกาย เช่น โรคไขข้ออักเสบ กรดไหลย้อน มาจากสิ่งแวดล้อมเช่นมีเสียงรบกวน ห้อง นอนสว่างเกินไป หรือจากอุปนิสัยที่ไม่ถูกสุขลักษณะก่อนนอน เช่น ทานอาหารย่อยยาก เล่นเกม ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น
‘ที่พบบ่อยคือมีเหตุมาจากปัญหาจิตใจ ที่สำคัญคือความเครียด วิตกกังวล หากอาการต้นเหตุที่กล่าวมาหายไป ปัญหาการนอนหลับก็จะดีขึ้นเองแต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ พบว่าประชาชนที่นอนไม่หลับ ยังขาดความเข้าใจ มักไม่ได้คิดถึงไปที่สาเหตุ แต่จะมุ่งแก้ที่อาการ โดยก่อนที่จะไปพบแพทย์ ส่วนใหญ่มักหายามากินเองก่อนซึ่งที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯพบได้เกือบ100เปอร์เซ็นต์ พบได้ 2 ลักษณะคือใช้ยาที่ซื้อทางอินเทอร์เน็ตหรือจากร้านยา มีทั้งยาแผนปัจจุบัน ซึ่งเป็นยาประเภทฮอร์โมนที่ควบคุมวงจรการนอนหลับ การตื่นของมนุษย์หรือยาทำให้นอนหลับ และอีกลักษณะหนึ่ง คือขอแบ่งยานอนหลับมาจากผู้ป่วยที่รู้จักคุ้นเคย มาทดลองกิน ปัญหานี้พบได้ทั้งเขตเมืองและชนบท เพราะประชาชนเข้าใจว่ายาใช้ด้วย กันได้ แก้อาการนอนไม่หลับเหมือนกัน คาดว่าพื้นที่อื่นๆก็น่าจะเป็นลักษณะเดียวกัน”นพ.กิตต์กวีกล่าว
นพ.กิตต์กวี กล่าวย้ำว่า การหายามากินเพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับเอง นอกจากใช้ไม่ได้ผลในระยะยาวยังเสี่ยงเป็นอันตรายต่อตัวเอง เนื่องจากยาแต่ละชนิดที่ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับและที่ใช้รักษาผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันตามลักษณะอาการ สาเหตุและข้อบ่งชี้การใช้ ใช้ด้วยกันไม่ได้แม้ว่าจะมีอาการนอนไม่หลับเหมือนกันก็ตาม โดยเฉพาะหากอาการที่นอนไม่หลับเกิดมาจากความเครียด วิตกกังวล หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้น จะทำให้โรคเพิ่มความรุนแรงขึ้น ถึงขั้นป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จากการศึกษาวิจัยพบมีความเสี่ยงสูงกว่าคนปกติถึง 2 เท่าตัว และทำให้เป็นโรคทางจิตอื่น ๆ เช่น ไบโพลาร์ เกิดประสาทหลอนได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสป่วยโรคทางกาย เช่นความดันโลหิตสูง สมองเสื่อม โรคหัวใจ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
อย่างไรก็ตามขอแนะนำให้ผู้มีปัญหานอนไม่หลับ ทุกสิทธิการรักษาควรรีบปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง หลัง จากที่รู้ตัวว่านอนไม่หลับติดต่อกันมา 2 สัปดาห์ หรือโทรปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องจะได้ผลดีและปลอดภัย การรักษาโดยทั่วไปจะมี 3 วิธี คือรักษาที่สาเหตุที่เกี่ยวข้อง รักษาโดยการปรับความคิดและพฤติกรรม และการใช้ยา จะเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้.-สำนักข่าวไทย