กทม. 27 ก.พ. – เกณฑ์ใหม่สินเชื่อบ้านเริ่ม 1 เมษายนนี้ แบงก์ชาติย้ำมีแต่ข้อดี แต่เอกชนหวั่นกระทบตลาดบ้าน
1 เมษายนที่จะถึงนี้ หลักเกณฑ์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อบ้านของธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะคนขอสินเชื่อบ้านตั้งแต่ 2 หลังขึ้นไป ธนาคารไม่สามารถปล่อยกู้ได้ 100 % อีกต่อไป ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่า จะมีผลกระทบต่อตลาดบ้านและสินเชื่อบ้านหรือไม่
ซึ่ง นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันถึงผลดีของการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวว่า การออกมาตรการนี้จะช่วยลดความต้องการซื้อบ้านเทียม ทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านแท้จริง สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ในราคาที่เหมาะสม และช่วยยกระดับคุณภาพสินเชื่อของธนาคารป้องกันการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อที่รุนแรงเกินไป ช่วยลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ
นายรณดล ย้ำว่า ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการซื้อบ้านจริง จะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่ออกมา เพราะถ้าซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกหรือสัญญาเงินกู้ฉบับแรก ไม่ต้องวางเงินดาวน์ โดยผู้ขอสินเชื่อกลุ่มนี้มีสัดส่วนร้อยละ 89 ของจำนวนสินเชื่อบ้านทั้งหมด
แต่นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท-พรีเมียม บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตทและนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอาคารชุดไทย กลับบอกว่า มาตรการนี้กระทบต่อผู้ต้องการบ้าน แม้จะชะลอความร้อนแรงของราคาบ้านได้ แต่ผู้กู้บ้านต้องวางเงินดาวน์อย่างน้อย 10 % ไม่ใช่เรื่องง่าย และยังต้องเตรียมวงเงินเพิ่มเติมสำหรับเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ในครัวเรือน และค่าธรรมเนียมการโอน การจำนองอีกด้วย ซึ่งจะเพิ่มค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 10-15 จึงมองว่ามาตรการนี้จะทำให้คนมีที่อยู่อาศัยยากขึ้น สวนทางกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมให้คนที่มีอยู่อาศัย
สำหรับหลักเกณฑ์ควบคุมปล่อยสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดขึ้นมา และมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายนนี้ กำหนดไว้ว่า กรณีการผ่อนบ้านพร้อมกัน 2 หลังขึ้นไป ถ้าราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทและผ่อนชำระหลังแรกตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป จะต้องวางดาวน์ 10% ขณะที่ถ้าผ่อนชำระหลังแรกยังไม่ถึง 3 ปีหรือกู้ซื้อบ้านราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องวางดาวน์ 20% สำหรับบ้านหลังที่ 3 ขึ้นไปจะต้องวางดาวน์ 30% ในทุกระดับราคา
หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะไม่กระทบประชาชนที่กู้ซื้อบ้านหลังแรกที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทและจะไม่บังคับใช้กับการกู้เพื่อสร้างบ้านบนที่ดินของตนเองรวมทั้งจะไม่กระทบการรีไฟแนนซ์สำหรับผู้กู้ที่มีภาระผ่อนเพียงหนึ่งหลัง
นอกจากนี้หลักเกณฑ์การปล่อยกู้ซื้อบ้านที่จะเริ่มใช้ 1 เมษายน จะยกเว้นกรณีที่มีสัญญาจะซื้อจะขายก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2561 เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ที่วางแผนซื้อบ้านหรือผ่อนดาวน์อยู่ก่อนแล้ว
มาดูสินเชื่อบ้านที่ปล่อยใหม่กันบ้างว่า ในปีที่แล้วสถานการณ์เป็นอย่างไร ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่า สินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ปีที่แล้ว มีมูลค่า 702,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 633,990 ล้านบาท และแนวโน้มสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ทั้งประเทศในปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 697,814 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว
ซึ่งสิ้นปี 2561 สินเชื่อบ้านทั้งระบบทั่วประเทศ มีมูลค่า 3.795 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยแนวโน้มสินเชื่อบ้านทั่วประเทศ ณ สิ้นปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 4.145 ล้านล้านบาท
ขณะที่ยอดการทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินจากกรมที่ดิน หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศออกมาเมื่อปลายปีที่แล้วว่า จะใช้หลักเกณฑ์คุมเข้มสินเชื่อบ้านมากขึ้นพบว่า ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2561 มีประชาชนติดต่อใช้บริการที่สำนักงานที่ดินทั่วประเทศ จํานวน 3,310,000 รายเศษ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ปรากฏว่า มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นประมาณ 227,000 กว่าราย หรือร้อยละ 7.37 เป็นสัญญาณชี้ได้ว่า ยอดการทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดิน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่วนหนึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการหนีประกาศคุมเข้มสินเชื่อบ้านของแบงก์ชาติด้วย เพราะต้องยอมรับว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้คนซื้อบ้านหลังที่ 2 ต้องมีเงินก้อนอยู่พอสมควร จึงจะซื้อบ้าน ไม่สามารถกู้เงินได้เต็มราคาบ้านเหมือนเดิม .- สำนักข่าวไทย