กรุงเทพฯ 22 ก.พ. – ที่ประชุมไตรภาคียางเห็นชอบเพิ่มปริมาณใช้ในประเทศ จำกัดส่งออก 3 ประเทศรวม 300,000 ตัน ดันราคาขยับขึ้น
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงผลการประชุมไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อร่วมกันหาแนวทางรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างยั่งยืน โดยมีมาตรการเบื้องต้น ประกอบด้วย จำกัดปริมาณการส่งออกยางของ 3 ประเทศ รวม 200,000 – 300,000 ตัน หาวิธีเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น บริหารจัดการผลผลิตในประเทศ โดยการลดพื้นที่ปลูกยางพาราไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ทำตลาดยางพาราร่วมกันระหว่างภูมิภาค เพื่อซื้อขายยางพาราล่วงหน้า และตั้งสภายางพาราแห่งอาเซียน เพื่อเป็นเวทีให้ทั้ง 3 ประเทศมาพูดคุยหารือกันในประเด็นยางพารา ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปยางพารา การศึกษาค้นคว้า งานวิจัย หรือเวทีและเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งนี้ยังไม่ได้มีการลงนาม เพื่อดำเนินมาตรการใด เนื่องจากจะต้องทำอย่างรอบคอบ จึงเห็นสมควรแต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคระดับสูงจากทั้ง 3 ประเทศ หารือรายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 4 มีนาคมนี้ ที่จังหวัดสงขลา
สำหรับประเทศไทยได้กำหนดนโยบายและแนวทางการแก้ปัญหาราคายางทั้งนโยบายระยะสั้น และระยะยาว ได้แก่ การจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงระหว่างที่ราคายางพาราตกต่ำ โดยเชิญชวนและรับสมัครเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศที่สนใจเข้าร่วมโครงการฝากน้ำยางไว้กับต้นยาง หรือหยุดกรีดยางเป็นเวลา 1-2 เดือน การส่งเสริมและเร่งรัดการใช้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราในประเทศมากขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มจากหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ วัสดุ ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้างที่มีส่วนผสมของยางพาราเพิ่มมากขึ้น เช่น บล็อกยางปูพื้น ยางปูสนามฟุตซอล และถนนยางพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต เป็นต้น
นอกจากนี้ โครงการเร่งด่วนที่ผลักดันให้มีการดำเนินในปัจจุบัน ได้แก่ การสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศสร้างถนนยางพารากว่า 75,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ โดยมีการสร้างถนนที่มีส่วนผสมของยางพาราในอัตราหมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร เพื่อดูดซับน้ำยางออกจากระบบตลาด และเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศ ขณะเดียวกันได้เชิญชวนบริษัทเอกชนทั้งใน และต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนผลิต และแปรรูปยาง โดยให้มีสิทธิพิเศษทางการลงทุน นอกจากนี้ รัฐบาลไทยมีมาตรการควบคุมการผลิตโดยเชิญชวนให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ทดแทนยางพารา เช่น กาแฟ โกโก้ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านยางพาราภายในประเทศ เช่น ผลิตล้อยาง ถุงมือยาง สายพานลำเลียง เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกษตรกรขายยางพาราได้ในราคาสูงขึ้น โดยน้ำยางสดและน้ำยางข้นเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 40 บาท สำหรับราคายางแผ่นรมควันที่ตลาดกลาง กยท. ทั้ง 6 แห่งกิโลกรัมละ 45-46 บาท หากเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม จะเป็นจุดคุ้มทุนของเกษตรกร ซึ่งไตรภาคียางต้องการให้ราคายางมีเสถียรภาพเกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้มั่นคง.- สำนักข่าวไทย