อสมท 18 ก.พ.- ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งสิ้น 81 พรรค จากที่ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง 104 พรรคการเมือง โดยมี 3 พรรคการเมืองชูนโยบายปฏิรูปกองทัพ
พรรคแรกที่เสนอการปฏิรูปกองทัพ คือ พรรคอนาคตใหม่ ที่ประกาศ “ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” เปลี่ยนมาใช้ระบบสมัครใจ พรรคเพื่อไทยประกาศว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะตัดงบกองทัพปีละ 10% หรือราว 20,000 ล้านบาทต่อไป และพรรคเสรีรวมไทย ประกาศจะยุบกองบัญชาการกองทัพไทย ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เพราะไม่มีความจำเป็น สิ้นเปลืองงบประมาณ จะให้คนที่สมัครใจเท่านั้นไปเป็นพลทหาร และที่สำคัญคือให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการสั่งย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพได้
โดยประเด็นสำคัญที่มีการนำเสนอ คือ การให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร สำนักข่าวไทย อสมท สำรวจข้อมูลพบว่า ยอดการเกณฑ์ทหารใน 3 ปีล่าสุด คือ ตั้งแต่ปี 2559-2561 มีแนวโน้มที่กองทัพไทยจะต้องการทหารเกณฑ์มากขึ้น ในปี 2559 กองทัพต้องการทหารเกณฑ์ 101,307 นาย ผู้ร้องขอเป็นทหารเกณฑ์ (สมัคร) 47,172 นาย คิดเป็น 46.56%
ในปี 2560 กองทัพต้องการทหารเกณฑ์ 103,097 นาย มีผู้ร้องขอเป็นทหารเกณฑ์ (สมัคร) 50,580 นาย คิดเป็น 49% ในปี 2561 กองทัพต้องการทหารเกณฑ์ 104,734 นาย ผู้ร้องขอเป็นทหารเกณฑ์ (สมัคร) 44,797 นาย คิดเป็น 42.77%
สำนักข่าวไทย ตรวจสอบในหลายประเทศทั่วโลกมีการยกเลิกการบังคับเกณฑ์บุคคลหรือประชาชน ทั้งเพศชายและเพศหญิง เข้ารับใช้กองทัพทหาร เปลี่ยนเป็นการรับสมัครบุคคลผู้ที่สนใจทำงานหรือเป็นทหาร และมีเงินเดือนรวมไปถึงสวัสดิการต่างๆ ที่พึ่งมี เช่น การประกอบอาชีพต่างๆ โดยยังมีอีกกว่า 27 ประเทศ ที่ยังคงมีระบบการเกณฑ์ทหาร โดยให้บุคคลผู้มีอายุถึงเกณฑ์ที่รัฐกำหนดต้องเข้าเป็น ‘ทหาร’ เพราะถือเป็นหน้าที่ของประชาชน เช่น ออสเตรีย อาเซอร์ไบจาน บราซิล เมียนมา โคลอมเบีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ เม็กซิโก นอร์เวย์ รัสเซีย สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์.-สำนักข่าวไทย