กระทรวงการคลัง 31 ส.ค.-กระทรวงการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวผ่าน ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ใหม่เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเริ่มสูงขึ้น รายได้เกษตรกรขยายตัว รายได้สุทธิรัฐบาลขยายตัว แม้การลงทุนภาคเอกชนยังมีสัญญาณชะลอตัว
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจาก ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.4 ต่อปี ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเขตภูมิภาค สะท้อนกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มราคาผลผลิตสินค้าเกษตรที่เริ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนกรกฎาคม 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.6 ต่อปี สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 17.7 ต่อปี สำหรับยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวชะลอลงและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่กลับมาหดตัว
ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ยังมีสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจาก ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ 20.8 และปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศหดตัวร้อยละ 4.0 ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนยังหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี และเมื่อหักสินค้าพิเศษ (เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) พบว่า หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี
สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนกรฎาคม 2559 พบว่า รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรืออปท. ) ขยายตัวในระดับสูง โดยรัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 174,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 22.2 เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่นที่ขยายตัวได้ในระดับสูง โดยเฉพาะการนำส่งค่าภาคหลวงปิโตรเลียม การประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz (4G) และการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล งวดที่ 3 เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณรวมเบิกจ่ายได้จำนวน 184,200 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 17.0 ต่อปี จากการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบันที่เบิกจ่ายได้จำนวน 176,100 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 15.6 ต่อปี เนื่องจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนที่หดตัวลง ขณะที่การเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อนเบิกจ่ายได้จำนวน 8,100 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน 32,100 ล้านบาท
ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือนกรกฎาคม 2559 หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 4.4 ต่อปี เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยสินค้าส่งออกที่หดตัว เป็นผลจากการหดตัวในหมวดเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เช่น สินค้าในกลุ่มข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และในหมวดอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่เครื่องอิเล็กทรอนิกส์สามารถขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตามเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานในเดือนกรกฎาคม 2559 ปรับตัวดีขึ้นจากภาคเกษตรที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อเดือนหลังหักผลทางฤดูกาล โดยได้รับปัจจัยบวกจากการขยายตัวของหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวได้ดีเช่นกันโดยขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ร้อยละ 16.2 ต่อปี
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยขยายตัวร้อยละ 10.8 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อเดือนหลังหักผลทางฤดูกาล โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีจาก จีน กลุ่มประเทศ CLMV อินเดีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา เป็นหลัก สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2559 หดตัวร้อยละ 5.1 ต่อปี จากการผลิตในหมวดยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เครื่องแต่งกาย และเคมีภัณฑ์ เป็นสำคัญ สอดคล้องกับการส่งออกในหมวดเดียวกันที่หดตัว แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.1 และ 0.8 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเช่นกันที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ระดับร้อยละ 42.8 ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกสะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ 180,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 3.3 เท่าเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น-สำนักข่าวไทย