นนทบุรี 14 ก.พ. – พาณิชย์ย้ำชัดไม่ขยายมาตรการปกป้องสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่น ๆ ระบุไม่พบความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดกับอุตสาหกรรมภายใน หรือคุกคามอุตสาหกรรมภายในจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยผลการทบทวนชั้นที่สุดของคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง (คปป.) โดยคณะกรรมการฯ พิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้รับจากกระบวนการไต่สวนและผลจากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 91 ราย ประกอบด้วย ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ผู้ผลิตต่างประเทศ ผู้ผลิตในประเทศ สมาคมผู้ใช้อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และผู้นำเข้า โดยพิจารณาความเห็นทั้งจากกลุ่มผู้ผลิตอุตสาหกรรมเหล็กที่ต้องการให้ขยายเวลาใช้มาตรการออกไป เพราะกังวลสถานการณ์สงครามการค้าและผลกระทบที่อาจเกิดกับอุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กในห่วงโซ่อุปทาน และความเห็นจากกลุ่มผู้ใช้ที่ไม่เห็นด้วยที่จะขยายเวลาการใช้มาตรการ ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ ต่อเรือ ผู้ผลิตเครื่องมือเครื่องจักรกลการเกษตร เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการ ประกอบกับ ผลการทบทวนที่ไม่พบความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายในหรือที่คุกคามอุตสาหกรรมภายใน เนื่องมาจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น คณะกรรมการฯ จึงมีมติไม่ให้ขยายเวลาการใช้มาตรการปกป้อง (เซฟการ์ด)
ทั้งนี้ หลักการใช้มาตรการปกป้องมีวัตถุประสงค์เป็นมาตรการชั่วคราวให้ใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ความเสียหายจากสาเหตุอื่น และมาตรการปกป้องมีต้นทุนสูง คือ ยิ่งใช้นานยิ่งมีต้นทุนจากการต้องชดเชยและการถูกตอบโต้ทางการค้า อย่างกรณีที่ไทยถูกตอบโต้จากตุรกี โดยขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องปรับอากาศ เพราะไทยขยายเวลาการใช้มาตรการปกป้องสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วรัฐบาลจึงจำเป็นต้องฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อลดผลกระทบและกดดันให้ตุรกียุติการตอบโต้กับไทย โดยกลุ่มผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน ซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการขยายเวลาการใช้มาตรการปกป้องไม่สามารถเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศไปตุรกีได้ และสำหรับกรณีนี้จากข้อมูลการส่งออกของไทย อุตสาหกรรมหลักหลายกลุ่มของไทย รวมทั้งสินค้าเกษตรมีโอกาสจะถูกตอบโต้จากหลายประเทศคู่ค้า ซึ่งในระหว่างการทบทวนมีประเทศเกาหลีใต้ อียิปต์ และตุรกี แสดงความเห็นคัดค้านการใช้มาตรการ โดยรัฐบาลเกาหลีใต้และรัฐบาลอียิปต์ได้แจ้งที่จะขอชดเชยหากต่ออายุมาตรการออกไปด้วย
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีกระแสจากกลุ่มเหล็กว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธาน คปป.ออกมาเผยทิศทางก่อนการประชุมว่าจะไม่พิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้อย่างแน่นอนนั้น ไม่เป็นความจริง โดยการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นเพียงการชี้แจงให้ทราบข้อมูลตาม “ร่าง” ผลการทบทวน ซึ่งเป็นผลตัดสินเบื้องต้น ที่ออกไปให้ผู้มีส่วนได้เสียได้มีโอกาสเข้ามาแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่การชี้แจงผลขั้นสุดท้ายของการพิจารณา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ประธานจะทราบว่าผลการพิจารณาจะเป็นเช่นไร ก่อนการประชุมพิจารณาผลชั้นที่สุด
สำหรับข้อร้องเรียนของกลุ่มผู้ผลิตเหล็ก 7 สมาคมที่มีหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเรียกร้องให้คณะกรรมการฯ ขยายเวลาการใช้มาตรการปกป้องสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่น ๆ ต่อไปเป็นครั้งที่ 3 หลังจากไทยใช้มาตรการมาแล้ว 6 ปี คือ ครั้งแรกวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 – 26 กุมภาพันธ์ 2559 และขยายเวลาครั้งที่ 2 ออกไปจนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 โดยกลุ่ม 7 สมาคมอ้างถึงสถานการณ์สงครามทางการค้าสหรัฐและจีน และถ้าไม่มีการต่ออายุมาตรการปกป้องออกไปอีกจะทำให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยไปไม่รอดนั้น ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่ามาตรการปกป้องเป็นมาตรการเยียวยาความเสียหายจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น มิใช่มาตรการที่จะแก้ปัญหาเรื้อรังของอุตสาหกรรมเหล็กรีดร้อนไทยที่เป็นผลจากเหตุอื่น เช่น ปัญหาโครงสร้างการผลิต การบริหารจัดการ และการมีกำลังการผลิตที่เกินความต้องการใช้ในประเทศมากได้
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประกอบด้วย ผู้แทนจากหลายหน่วยงานทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตร กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ อีกหลายท่าน ซึ่งได้พิจารณาข้อมูลหลักฐานร่วมกันโดยรอบคอบแล้ว จึงมีมติเป็นความเห็นของที่ประชุมดังกล่าวข้างต้น ประธานไม่สามารถไปชี้นำหรือกำหนดความเห็นของที่ประชุมได้ การที่กลุ่มผู้ผลิตเหล็กรีดร้อนไปออกข่าวกดดันการพิจารณาทั้ง ๆ ที่ทราบตั้งแต่ต้นถึงหลักเกณฑ์เงื่อนไขของกรอบกฎหมายที่คณะกรรมการฯ ต้องยึดถือ จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมต่อคณะกรรมการฯ และผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายอื่น ๆ .-สำนักข่าวไทย