กรุงเทพฯ 10 ก.พ.-สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าหลังธปท. ส่งสัญญาณพร้อมเข้าดูแลหากพบความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ส่วนตลาดหุ้นย่อตัวลงตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์นี้(4-8 ก.พ.)ว่า เงินบาทปรับตัวในกรอบแคบๆ ก่อนจะกลับมาอ่อนค่าลงปลายสัปดาห์ แม้ภาพรวมทิศทางของเงินบาทในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ จะเป็นกรอบการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างแคบ แต่เงินบาทก็ขยับแข็งค่าได้เล็กน้อยตามแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังจากธปท. ส่งสัญญาณพร้อมเข้าดูแลหากพบความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของเงินบาท ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยช่วงปลายสัปดาห์เช่นกัน ในวันศุกร์ (8 ก.พ.) เงินบาทกลับมาอยู่ที่ระดับ 31.45 หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 สัปดาห์ที่ 31.51 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 31.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 ก.พ.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (11-15 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.30-31.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ความคืบหน้าของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนธ.ค. ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาสินค้านำเข้าและส่งออก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค. ดัชนีกิจกรรมภาคการผลิตโดยเฟดสาขานิวยอร์ก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนก.พ. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามข้อมูลจีดีพีไตรมาส 4/61 ของยูโรโซน รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนม.ค. และทิศทางค่าเงินหยวนหลังตลาดการเงินจีนกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง
ส่วนสรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย สัปดาห์นี้(4-8 ก.พ.)ดัชนีตลาดหุ้นไทยกลับมาปิดในระดับทรงตัวจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,651.68 จุด ใกล้ระดับปิดตลาดสัปดาห์ก่อนที่ 1,651.40 จุด ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 20.45% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 40,519.40 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ขยับขึ้น 0.90% มาปิดที่ 385.38 จุด
ดัชนีตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะดีดตัวขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ด้วยแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงในเวลาต่อมาตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความไม่แน่นอนในประเด็นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังปธน.ทรัมป์ ปฏิเสธการพบปะหารือกับปธน.สี ก่อนวันที่ 1 มี.ค. นอกจากนี้ ยังมีแรงขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนรายย่อยในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (11-15 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,635 และ 1,625 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,665 และ 1,675 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ประเด็นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง และผลประกอบการไตรมาส 4/61 ของบริษัทจดทะเบียน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ และยอดค้าปลีกเดือนธ.ค. ดัชนีราคาผู้บริโภค ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/61 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. ของยูโรโซน รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคเดือนม.ค. ของจีน-สำนักข่าวไทย