กรุงเทพฯ 6 ก.พ.- นครบาลเตรียมพ่นน้ำจับฝุ่นบนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 11 แห่ง เชื่อไม่ส่งผลกระทบต่อผู้สัญจรทางน้ำ
พลตำรวจโทสุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตามโครงการตำรวจนครบาลพ่นน้ำจับฝุ่นบนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยระบุว่า การประชุมในวันนี้จะหารือถึงรายละเอียดในการติดตั้งอุปกรณ์ และการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบแต่ละสะพาน โดยจากการทดสอบ ที่บริเวณสะพานพุทธยอดฟ้า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าละอองน้ำที่ออกจากหัวฉีดมีขนาดเล็ก ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนหรือเป็นอันตรายต่อการสัญจรไปมาบนแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งจุดดังกล่าวเป็นที่สูงมีลมพัดแรงจึงพัดเอาละอองน้ำไปดักจับฝุ่นในบริเวณโดยรอบสะพานได้อย่างทั่วถึง จากการตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถช่วยให้ค่าฝุ่นละอองในอากาศ PM 2.5 ลดลงจากเดิมประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
และล่าสุด การประปานครหลวง อนุญาตให้ใช้น้ำจากหัวจ่ายที่อยู่ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำ เพื่อให้น้ำที่ใช้เป็นน้ำสะอาดไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน ขณะนี้มีสะพานที่ทำการสำรวจเสร็จแล้วทั้ง 11 แห่ง (สะพานพระราม 6, สะพานกรุงธน, สะพานพระราม 8, สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า, สะพานพระพุทธยอดฟ้า, สะพานพระปกเกล้า, สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน, สะพานพระราม 3, สะพานกรุงเทพ, สะพานพระราม 9 และสะพานภูมิพล 1 จะเริ่มติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันศุกร์นี้ทุกสะพาน
สำหรับ รายละเอียดการติดตั้ง จะติดตั้งไว้ทางด้านซ้ายและขวาของตัวสะพานโดยมีเครื่องสูบน้ำด้านละ 2 เครื่องหัวฉีดด้านละ 15 หัวและสายยางด้านละ 15 เมตรถังพักน้ำขนาด 2,000 ลิตร 1 ถัง ซึ่งจะต้องใช้เครื่องสูบน้ำรวม 44 เครื่องหัวฉีดน้ำ 330 หัวสายยาง 3,300 เมตรและถังพักน้ำ 22 ถัง โดยงบประมาณในการติดตั้งได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน และ คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติงานของตำรวจหรือ กต.ตร. ทุกสน. มาช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ
ส่วนการดูแลควบคุมเครื่องจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละพื้นที่ใกล้เคียงกับสะพานมาเป็นผู้ควบคุมดูแลการเปิดปิดเครื่องคือ สน.บางโพ สน.บวรมงคล สน.บางยี่ขัน,สน.ปากคลองสาน และ สน.บางคอแหลม โดยจะมีสมุดควบคุมให้บันทึกการทำงานทุกสะพานแล้วรายงานผลให้ทราบทุกวัน
ส่วนการเปิดหัวฉีดอยู่ระหว่างการพิจารณาในที่ประชุมว่าจะเปิดในช่วงเวลาใดได้บ้าง ซึ่งจากการพูดคุยเบื้องต้นจะเปิดในช่วงเช้า, กลางวัน,และเย็น โดยจะเปิดและปิดครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งสลับกันไป ส่วนในช่วงเวลากลางคืนจะเปิดละอองน้ำไว้ตลอดเวลาเพื่อจะจับฝุ่นที่มีในตอนกลางคืน และเป็นช่วงเวลาที่มีรถสัญจรไปมาไม่มาก .-สำนักข่าวไทย