ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 4 ก.พ. – ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผลักดันดำเนินธุรกิจตามหลัก เศรษฐกิจหมุนเวียน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “20 ปีปัญหาขยะประเทศไทยหมดไปด้วยกลไกตลาดทุน” ที่จัดขึ้นโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน และสถาบันวิทยาการตลาดทุนโดยคณะนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 27 (วตท.27) ว่า แนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy นับเป็นเทรนด์ธุรกิจที่กำลังถูกจับตาด้วยหลักการจัดการของเสียโดยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิต และบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ หรือนำมาใช้ซ้ำ โดยการนำทรัพยากรหมุนเวียนกลับมาใช้ ให้เป็นวัสดุใหม่ มุ่งการรักษาและเพิ่มการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ซึ่งทุกฝ่ายควรร่วมมือกัน
สำหรับขยะมูลฝอย ถือเป็นวาระแห่งชาติที่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน จากสถิติปริมาณขยะในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2560 พบว่า มีปริมาณขยะทั่วประเทศประมาณ 27.37 ล้านตัน หรือประมาณ 74,998 ตันต่อวัน มีอัตราการเกิดขยะมูลฝอย 1.13 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของชุมชนเมือง ขณะที่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การที่ค่ากำจัดขยะที่ประชาชนจ่ายนั้นไม่ได้สะท้อนถึงต้นทุนในการกำจัดขยะ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการกำจัดขยะนั้น ขาดแคลนงบประมาณในการกำจัดขยะ เกิดปัญหาตกค้าง การทิ้งขยะข้ามเขต
นายคณพศ นิจสิริภัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส กล่าวว่า ควรใช้วิธีการสร้างต้นทุนทางอ้อมผ่านการซื้อถุงขยะจาก อปท. เพื่อ เลี่ยงผลกระทบจากการขึ้นอัตราค่าธรรมเนียม แบ่งขยะเป็น 2 ประเภท คือ ขยะที่มีความชื้น และขยะติดไฟง่ายหรือขยะแห้ง เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บ ส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะ ช่วยลดการทิ้งขยะ
นายทวี จงควินิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า การจะแก้ไขปัญหาขยะให้หมดไปได้ภายใน 20 ปี ทุกคนสามารถช่วยลดขยะด้วยแนวคิด 3R คือ Reduce ลดการใช้ การบริโภคทรัพยากรที่ไม่จำเป็นลง Reuse ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด และ Recycle นำหรือเลือกใช้ทรัพยากรที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนที่เหลือก็นำกลับมาเป็นเชื้อเพลิง สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะให้มากขึ้น จะทำให้กำจัดขยะหมดไปได้
นายธวัชชัย เกียรติกวานกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เสนอแนะการใช้กลไกตลาดทุนในการจัดการกับปัญหาขยะ ซึ่งสามารถใช้วิธีการจัดสรรเงินทุนด้วยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือการออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Green Bond เพื่อให้สามารถระดมเงินทุนด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำได้ . – สำนักข่าวไทย