เกษตรฯ เร่งวางนโยบายโควตาเกษตรกรรม

กรุงเทพฯ 31 ม.ค. – เกษตรฯ เดินหน้าแผนปฏิรูปภาคเกษตรปี 2 ชูโควตาเกษตรกรรม ไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ


นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ โดยกำชับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ ที่เป็นคณะอนุกรรมการฯ รับผิดชอบผลผลิตทางการเกษตรรายชนิด ได้แก่ คณะอนุกรรมการฯ พืชสวนดูแล ชาและกาแฟ คณะอนุกรรมการฯ พืชหัวดูแลหอมแดง หอมใหญ่ กระเทียม มันฝรั่ง ซึ่งตามพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ที่ดูแลพืชเหล่านี้โดยตรง ส่วนพืชอื่น ปศุสัตว์ และประมงนั้น อยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการนโยบายระดับชาติ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม้ผล ถั่วเหลือง มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย ปศุสัตว์ และประมง ซึ่ง ครม. กำหนดให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรมดูแลเป็นรายชนิดรูปภาคการเกษตร 

นายกฤษฎา กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาใช้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” สำหรับปีที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนี้ได้กำหนดนโยบายต่อเนื่อง คือ “การจัดสรรปริมาณการผลิตตามความต้องการของตลาด” หรือ “โควตาเกษตรกรรม” ซึ่งกำลังเขียนแผนปฏิบัติการนำเสนอนายกรัฐมนตรี โดยกำหนดชัดเจนว่าการทำเกษตรกรรมทั้งปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมงมีพื้นที่การผลิตเท่าไร โดยจะนำแผนที่เกษตร เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) มาตรวจสอบว่าแต่ละพื้นที่เหมาะสมต่อการทำประเภทใด ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมพัฒนาที่ดิน สำรวจศักยภาพการจัดสรรน้ำ ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมชลประทาน รวมทั้งได้สั่งการให้ผู้ช่วยทูตเกษตรใน 11 ประเทศสำรวจความต้องการของตลาดโลกว่าต้องการผลผลิตสินค้าทางการเกษตรใด ราคาเป็นอย่างไร จากนั้นจึงจะนำมาจัดสรรปริมาณการผลิตทั้งประเทศ โดยเกษตรกรแต่ละรายจะมีโควตาการผลิตเป็นปริมาณที่ชัดเจน เช่น หากมีที่ดิน 50 ไร่ ควรปลูกพืชกี่ชนิด อะไรบ้าง และจำนวนเท่าไร กรมส่งเสริมการเกษตรจะเข้าไปแนะนำและขึ้นทะเบียนการผลิต เช่นเดียวกับการทำปศุสัตว์และประมงด้วย ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผลผลิตชนิดใดชนิดหนึ่งล้นตลาดราคาตกต่ำส่งผลให้เกษตรกรต้องมาชุมนุมเรียกร้อง ที่ผ่านมารัฐแก้ปัญหาโดยการรับจำนำ การประกันราคา หรือการซื้อในราคานำตลาด ใช้งบประมาณมหาศาล บางปีสูงถึง 700,000 ล้านบาท แต่กลับเป็นปัญหาซ้ำซากเช่นเดิม


ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมานโยบายตลาดนำการผลิตประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่น่าพอใจ ได้แก่ การลดพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งแต่ละปีไทยผลิตข้าว 33 – 34 ล้านตันข้าวเปลือก บริโภคในประเทศ 20 ล้านตัน ที่เหลือพึ่งพาการส่งออก แต่เนื่องจากเศรษฐกิจโลกผันผวนตลอดเวลา ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาข้าวไม่มีเสถียรภาพ อีกทั้งจากการสำรวจความต้องการของตลาดพบว่า ประเทศต่าง ๆ นิยมข้าวหอมมะลิมากที่สุด รองลงมาเป็นพวกข้าวพื้นนุ่มสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น กข 21 กข 59 พิษณุโลก 80 ส่วนที่กรมการข้าวรับรองพันธุ์แล้วคือ กข 43 ซึ่งมีดัชนีน้ำตาลต่ำ เป็นอาหารสุขภาพเหมาะสำหรับผู้ต้องการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดและผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมถึงข้าวที่ปลูกแบบอินทรีย์ซึ่งขายได้ราคาสูงกว่าข้าวที่ใช้สารเคมีหลายเท่าตัว แต่ข้าวที่ตลาดโลกนิยมนั้น เกษตรกรยังปลูกน้อย ส่วนใหญ่ปลูกข้าวเจ้าธรรมดาและข้าวพื้นแข็ง

ขณะเดียวกันพบว่าตลาดขาดแคลนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ บริษัทผลิตอาหารสัตว์ต้องนำข้าวสาลีมาทดแทนในสูตรอาหารสัตว์ จึงได้ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมแปลงนำร่องที่จังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลกพบว่าเกษตรกรที่งดทำนาปรัง แล้วปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนนั้นได้กำไรเฉลี่ย 3,500-4,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับการทำนาปรังนั้น นาปรังได้กำไรเพียง 300-400 บาทเท่านั้น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้กำไรมากกว่า 10 เท่า  ซึ่งตามโครงการนั้น ข้าวโพดหลังฤดูทำนาจะให้ผลผลิตประมาณเดือนมีนาคมและเมษายน หากได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ กระทรวงเกษตรฯ จะนำไปใช้เป็นต้นแบบในการวางแผนการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดอื่น ๆ โดยฤดูแล้งหน้าจะส่งเสริมการปลูกถั่วเหลือง ถั่วเขียว และพืชผัก ทั้งนี้ โมเดลการวางแผนการผลิตที่จัดทำขึ้นสามารถใช้อย่างได้ผลดีต่อไป แม้จะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารงาน

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า จากนี้ไปข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ต้องปรับแนวคิดด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตรใหม่จะเป็นแบบเดิมไม่ได้ที่ไปส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของตลาด ทำให้ผลผลิตล้นขายไม่ได้และราคาตกต่ำมาก เช่น ยางพาราหลายปีก่อนราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท รัฐบาลสมัยนั้นส่งเสริมให้ปลูกจากเดิมปลูกเฉพาะ 14 จังหวัดภาคใต้ เกษตรกรหันมาปลูกตามกันทั่วประเทศจนโตและกรีดได้พร้อม ๆ กันใน 2-3 ปีนี้ ราคาจึงตกต่ำมาก ที่น่าเป็นห่วงต่อไป คือ ทุเรียน ซึ่งปีที่แล้วราคาดี เกษตรกรโค่นไม้ผลอื่นแล้วปลูกทุเรียนกันทั่วประเทศเช่นกัน อีกประมาณ 5 ปี จะเริ่มให้ผลผลิตอาจประสบปัญหาเดียวกับยางพารา


นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิรูปภาคการเกษตรในรัฐบาลนี้ยังให้ความสำคัญต่อการป้องกันความเสี่ยงแก่อาชีพเกษตรกรทั้งการจัดสรรงบประมาณให้เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การทำประกันภัยพิบัติ หากเกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง โรคหรือแมลงลง นอกจากจะได้รับการชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลังแล้ว ยังจะได้ค่าชดเชยจากบริษัทประกันภัยอีกด้วย ทั้งนี้ มุ่งหวังให้อาชีพเกษตรกรมีหลักประกันที่มั่นคงและมีสวัสดิการเช่นเดียวกับอาชีพอื่น ๆ 

นอกจากนี้ ยังปรับแนวทางการทำงานของข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ใหม่ โดยบูรณาการกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการหาตลาด รวมทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งจากที่มีหน้าที่ปล่อยสินเชื่อเท่านั้น ควรเพิ่มบทบาทในการส่งเสริมการทำตลาดควบคู่ไปด้วย เพื่อการพัฒนาสินค้าเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนต่อไป.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เหล้าเถื่อนลาว

เสียชีวิตรายที่ 6 คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว

คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตเพิ่มรายที่ 6 เป็นหญิงชาวออสเตรเลีย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในไทย

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ.

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ช่วยปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมช่วยเจ้าทุกข์ย้ายหน่วยตามร้องขอ

ไฟไหม้โรงงานพัดลม เผาวอดเสียหายกว่า 50 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตพัดลมรายใหญ่ จ.สมุทรสาคร ระดมรถดับเพลิงระงับเหตุ กว่า 5 ชม. จึงควบคุมไว้ได้ในวงจำกัด เบื้องต้นเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ชาวนครฯ ฝ่าสายฝนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.

ชาวนครศรีธรรมราช ฝ่าสายฝนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง นายก อบจ.ต่อเนื่อง หลังเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเปิดให้มีการลงคะแนน

เปิดหีบเลือกตั้ง “นายก อบจ.อุดรธานี” ปชช.ทยอยใช้สิทธิ

ชาวอุดรธานีทยอยใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ. ต่อเนื่อง ด้านเลขาธิการ กกต. เผยคืนหมาหอน ทั้งที่อุดรธานี เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช ยังไม่พบการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

กรมอุตุฯ เผยไทยตอนบนอุณหภูมิสูงขึ้น-ภาคใต้ฝนตกหนัก

กรมอุตุฯ เผยไทยตอนบนอุณหภูมิสูงขึ้น เตือนภาคใต้ตอนล่างฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก