กรุงเทพฯ 29 ม.ค. – เอกชนรอประกาศ กกพ.รับซื้อขยะชุมชนรอบใหม่ ตามมติ กพช.คาดจะออกประกาศ 1-2 เดือนนี้ ส่วนโซลาร์ภาคประชาชน 100 เมกะวัตต์ กกพ.คาดอัตรารับซื้อ 1.60-1.80 บาท/หน่วย
นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายโรงงาน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP กล่าวว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 เห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยปรับปรุงเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับภาคเอกชนรายเล็ก (เอสพีพี) ในสถานที่ที่ตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบพิเศษหรือเอกชนนั้น นับเป็นเรื่องที่ดีที่คาดว่าจะทำให้โครงการกำจัดขยะเดินหน้า เพราะที่ผ่านมาหลายพื้นที่ต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะ หรือบางพื้นที่ไม่เหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าขยะเดิม เช่น ของบริษัท ก็มีแนวทางที่เพิ่มกำลังผลิตในการกำจัดขยะจากชุมชนต่าง ๆ ได้ในอนาคต โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี 2018) ฉบับใหม่ในช่วงปี 2561 – 2580 ที่จะมีโรงไฟฟ้าขยะโรงใหม่อีก 400 เมกะวัตต์
ส่วนโควตาเดิมตามแผนพีดีพี 2015 ในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่เหลืออีก 124 เมกะวัตต์ จาก 500 เมกะวัตต์นั้น ในขณะนี้เหลือยังไม่มีสัญญารับซื้ออีก 124 เมกะวัตต์ ก็คงรอว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะประกาศรับซื้อเมื่อใด โดยในส่วนนี้จะเป็นเอสพีพีของขยะ กทม. 2 โรง คือ หนองแขม และอ่อนนุช กำลังผลิตไฟฟ้าต่อโรง ๆ ละ 21 เมกะวัตต์ กำจัดขยะต่อแห่ง 1,000 ตันต่อวัน และที่เหลือเป็นวีเอสพีพี ในพื้นที่ผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทย คาดว่าจะเป็นนครราชสีมา เชียงใหม่ นนทบุรี เป็นต้น โดยในส่วนของบริษัทได้เข้าร่วมเสนอแข่งขันโครงการใน กทม.ที่มีคู่แข่งรวม 10 ราย และเตรียมเสนอโครงการที่จังหวัดนครราชสีมา หากได้รับการคัดเลือกคาดจะมีเม็ดเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท
น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ จะสามารถออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชนตามสัดส่วนในแผนพีดีพีเดิม อัตราเงินสนับสนุน FIT อยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ภายใต้สัญญาซื้อไฟฟ้า 20-25 ปี ส่วนการกำหนดพื้นที่รับซื้อไฟฟ้าและปริมาณการรับซื้อตามโครงการนี้ยังต้องรอรายละเอียดจากระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานก่อน
ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าภายใต้แผนพีดีพีฉบับใหม่นั้น คือ การออกระเบียบหลักเกณฑ์ดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน 100 เมกะวัตต์ต่อปีนั้น อัตราการรับซื้อไฟฟ้าคาดว่าจะไม่เกิน 1.6-1.8 บาทต่อหน่วย เป็นราคาคำนวณจากราคาต้นทุนส่วนเพิ่มหน่วยสุดท้ายที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รับซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยคาดว่าจะออกประกาศรับซื้อช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ และจะผลิตเข้าระบบได้ภายในปลายปีนี้ ซึ่งปกติแล้วเงินลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะอยู่ประมาณ 30-40 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์.-สำนักข่าวไทย