กรุงเทพฯ 29 ม.ค. – “อุตตม” อำลาข้าราชการ พร้อมฝากสานงานนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 มั่นใจผลงานที่ทำเป็นเรื่องดี มีประโยชน์จริง และน่าจะได้รับการสนับสนุนในอนาคต
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่ออำลาตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมฝากข้าราชการและหน่วยงานภายใต้สังกัดช่วยสานต่องานสำคัญ ๆ ต่อเนื่องไปตามนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 และการพัฒนาเอสเอ็มอี พัฒนาคนและนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทัดเทียมโลกทันโลกและในทิศทางที่ยั่งยืน เพราะในระบบเศรษฐกิจมีอุตสาหกรรมอยู่อย่างชัดเจน และการพัฒนาทุกด้านยังไม่สิ้นสุดจะต้องเดินหน้าต่อไป เช่น ด้านเอสเอ็มอี ต้องการช่วยกลุ่มผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอี และฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ล้มไปแล้ว ต้องการให้การช่วยเหลือเข้มข้นยิ่งขึ้น การทำงานต้องต่อเนื่องและทำให้เร็วพอสมควร ซึ่งที่ผ่านมาทำได้เร็วเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ต้องการให้เร็วและกว้างยิ่งขึ้น เพราะถ้าทำงานช้าจะไม่ทันการ และภาคอุตสาหกรรมเป็นหัวใจของเศรษฐกิจ ซึ่งหลายประเทศประสบผลสำเร็จในการยกระดับประเทศไม่ว่าจะเป็นจีน มาเลเซีย และสิงคโปร์
“นโยบายหรือสิ่งใดที่ดำเนินการในปัจจุบันและเป็นสิ่งที่ดี เช่น อุตสาหกรรม 4.0 อุตสาหกรรมเป้าหมาย การดูแลด้านการก่อมลพิษ ยุทธศาสตร์ใหม่ ยานยนต์ไฟฟ้า E Factory เป็นต้น ทำต่อไปเลยไม่ต้องคิดว่า รัฐบาลไหนจะมา เรื่องเหล่านี้เป็นประโยชน์กับคนไทยและประเทศ ส่วนรัฐบาลหน้าก็มาว่ากัน แต่คิดว่า ด้วยตัวมันเอง หากมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นคิดว่ามีแรงสนับสนุนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นค่อนข้างมั่นใจว่าเรื่องที่ทำดีมีประโยชน์จริง ๆ น่าจะได้รับการสนับสนุนในอนาคต” นายอุตตม กล่าว
นายอุตตม กล่าวว่า วันนี้ (29 ม.ค.) ทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นวันสุดท้าย ส่วนผู้ที่จะมาทำหน้าที่รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น เป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้พิจารณา
สำหรับรายละเอียดงานที่ฝากให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและข้าราชการหน่วยงานในสังกัด ช่วยกันขับเคลื่อนต่อไป เช่น การพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV การพัฒนาเทคโนโลยี การขับเคลื่อนศูนย์ปฎิรูปอุตสาหกรรมหรือ Industry Transformation Center:ITC การพัฒนาเอสเอ็มอีและธุรกิจสตาร์อัพและนวัตกรรมผ่านบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ InnoSpace (Thailand) Co., Ltd. การพัฒนา E factory การพัฒนาคน เป็นต้น การขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพราะหากอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่ขับเคลื่อนการมุ่งไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่จะช่วยปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ปัญหามลพิษเกิดขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมไม่เพียงดูแลผู้ประกอบการโรงงาน ขอให้ใช้โอกาสนี้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถ EV และยังได้ขอความร่วมมือให้ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มาร่วมยกร่างกฎหมายดูแลเรื่องมลพิษดูแลสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมที่เชื่อมต่อกับการผลิต EV ซึ่งทางกระทรวงพลังงานพร้อมจะสนับสนุนนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งที่ผ่านมาให้มีการขยายผลมากขึ้น และเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคน โดยสร้างแพลทฟอร์มในการเสริมสร้างทักษะใหม่ให้แรงงาน บุคลากรของประเทศให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมยุค 4.0 โดยมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนการสร้างแรงจูงใจสามารถนำเสนอมาตรการมายังรัฐบาลให้พิจารณาได้แพลทฟอร์มการพัฒนาทักษะ เช่น นักศึกษาระดับอาชีวะจะเสริมทักษะองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม มีการผลิตผู้ชำนาญและช่างสาขาต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนเป็นการสร้างงานสร้างโอกาสในระดับชุมชน ล่าสุดนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้เสนอในเรื่องแพลทฟอร์มการพัฒนาทักษะนักศึกษาระดับอาชีวะศึกษาแล้ว โดยการทำงานจะยึดโยงกับกระทรวงศึกษาธิการ
ส่วนการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์อัพ มีการก่อตั้งบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ InnoSpace (Thailand) Co., Ltd. ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้จะมีการลงนาม โดยมี Hong Kong CyberPort และหน่วยงานส่งเสริมสตาร์ทอัพของอิสราเอล ผู้นำ startup ของโลกมาร่วมมือด้วยกับฝ่ายไทย ซึ่งถือเป็นอีกแพลทฟอร์มในการเตรียมคนไทยในการก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ของภาคอุตสาหกรรมไทย
นายอุตตม ยังขอให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นหน่วยงานหลักในการช่วยส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต่อไป ที่ผ่านมาออกมาตรการช่วยเหลือ 9 มาตรการทั้งด้านการและความช่วยเหลืออื่น ๆ แต่ยังไม่พอจะต้องทำเพิ่มเติมอีก สำหรับผลการดำเนินการล่าสุดสามารถพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์ที่เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ การเพิ่มผลิตภาพให้เอสเอ็มอี เพิ่มการเชื่อมโยงสู่ตลาดสากล 27,000 รายในเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา แต่ยังถือว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 เท่านั้นต้องสานต่อ
นายอุตตม ยังฝากให้ กสอ.เดินหน้าการพัฒนาโครงข่าย ศูนย์ปฎิรูปอุตสาหกรรมหรือ Industry Transformation Center:ITC ที่มีเครื่องมือ บุคลากร รวม 102 โดยร่วมมือกับสถานบันการศึกษาให้มีการขับเคลื่อนให้กว้างขางและมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น หากต้องการงบประมาณเพิ่มเติมสามารถขออนุมัติจากรัฐบาลได้ เพราะจะเป็นการช่วยเหลือที่เข้าถึงคนตัวเล็กในพื้นที่ และยังยึดโยงกับการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village:CIV) หรือ“หมู่บ้าน CIV” ล่าสุดมีจำนวนรวม 107 ชุมชน ขอให้ขยายเพิ่มเติมมากขึ้น จากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีเพียง 30 กว่าหมู่บ้านเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าพัฒนา E Factory โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในโรงงาน พร้อมเข้มงวดการดูแลสิ่งแวดล้อมรวมถึงการมีบทบาทช่วยพัฒนาชุมชนโดยรอบโรงงาน รวมถึงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่มีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาก ให้ช่วยนำเทคโนโลยีและทรัพยากรที่มีอยู่นำออกมาใช้ช่วยพัฒนาชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ขอให้เดินหน้าต่อไปอย่างจริงจัง เพราะเป็นจุดแข็งของประเทศ และจะช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้อย่างแท้จริง อีกส่วนที่ฝากให้ขับเคลื่อนต่อ คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน หากดำเนินการ 2 อุตสาหกรรมนี้ได้จะช่วยให้ประเทศไทยมีพลังมากในอาเซียนในฐานะศูนย์กลางไบโอฮับของอาเซียน โดยภายใน 5 ปีน่าจะเห็นภาพนี้ชัดเจนนี้และจะต้องสร้างโอกาสสร้างอาชีพ เพื่อดึงประชาชนให้อยู่ในพื้นที่ โดยนำอุตสาหกรรมเข้าไปในพื้นที่ ไม่ใช่ดึงคนเข้าไปสู่ในอุตสาหกรรม และจะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคน
นอกจากนี้ ยังต้องเดินหน้าเพิ่มการอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาดำเนินการไปแล้ว คือ การยกเลิกอายุใบ รง.4 เรื่องของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมในการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพทำให้สามารถทำได้จริง ซึ่งเรื่องผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้ว เป็นการปลดล็อคให้สามารถเดินหน้าอุตสาหกรรมชีวภาพได้แล้ว ด้านการให้บริการของหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเร่งดำเนินการไปสู่การให้บริการแบบ e-services มากขึ้น
นายอุตตม ยังเสนอให้มีการเดินหน้าอย่างจริงจังในเรื่องการจัดทำบิ๊กดาต้า เพราะขณะนี้มีข้อมูลมากอยู่แล้ว โดยให้เริ่มทำในกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมและกลุ่มเอสเอ็มอี เพราะเมื่อมีฐานข้อมูลต่าง ๆ แล้ว จะเป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อไป
ด้านการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมโดยได้มีข้อตกลงความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่นภายใต้กรอบความร่วมมือพัฒนา Thailand 4.0 มีการการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทย โดยมีเป้าหมาย “ขับเคลื่อนการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เป็นผู้นำได้ในระดับสากล” ซึ่งได้ขอให้มีการใช้ที่สอดรับการพัฒาคนและอุตสาหกรรมเป้าหมาย และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้ขอให้ทางปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมประสานงานทำงานต่อเนื่องโดยประสานงานกับสำนักงานอีอีซี ที่จะมีการสร้างสมาร์ทซิตี้โดยมีการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม ด้านการพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวะศึกษาที่ขณะนี้ทางสำนักงานอีอีซีได้เดินหน้าโครงการไปแล้ว เป็นต้น. -สำนักข่าวไทย