ดินแดง 24 ม.ค.-อธิบดีกรมสวัสดิการฯ เผยเตรียมเอาผิดนายจ้าง หลังเครนถล่ม เสียชีวิต 5 ราย แต่ไม่เเจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในพื้นที่ พร้อมสอบเอาผิดเพิ่ม
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเหตุเครนอาคารคอนโดมิเนียมย่านพระราม 3 ถล่ม เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บอีก 5 ราย เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า ทันทีที่ได้รับรายงานว่าเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว ได้สั่งการให้พนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 11 ลงพื้นที่ตรวจสอบทันที
โดยพบว่า สถานที่ก่อสร้างดังกล่าวได้ก่อสร้างถึงชั้น 12 จึงทำการต่อเครนเพื่อก่อสร้างชั้น 13 โดยมีบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นเจ้าของโครงการ และมีบริษัทเป็นผู้รับเหมาช่วงก่อสร้าง ในเบื้องต้นได้รับรายงานว่าโครงการดังกล่าวมีการใช้ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่ หรือTower Crane จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งสาเหตุน่าจะเกิดมาจากปั้นจั่นเครื่องที่หักโค่นลงมาระหว่างที่เพิ่มความสูงของปั้นจั่น ซึ่งระหว่างการติดตั้งชิ้นส่วนของหอปั้นจั่น โครงสร้างหอปั้นจั่นอาจแกว่งจนเสียสมดุล จนทำให้ชุดน็อตหรือสลักที่ใช้ยึดขาด จนทำให้โครงสร้าง หักโค่นลงมาพร้อมกับลูกจ้างที่กำลังทำหน้าที่ยึดชุดน็อตพลัดตกลงมาด้วย อีกทั้งยังดึงเอาปั้นจั่นอีกเครื่องที่ทำหน้าที่ยกชุดคอสวิงของปั้นจั่นที่หักโค่นจนได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังพบว่านายจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 มาตรา 34 ที่ระบุว่าในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิตจากการประสบอันตราย จากการทํางาน นายจ้างต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในทันทีโดยโทรศัพท์ โทรสารและแจ้งรายละเอียด เป็นหนังสือภายใน 7 วันซึ่งนายจ้างไม่ได้แจ้งหรือรายงานเข้ามาแต่อย่างใด ดังนั้นวันนี้ (24 ม.ค.)นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดี กสร.พร้อมด้วยพนักงานตรวจความปลอดภัยได้ลงพื้นที่เกิดเหตุ และจะได้ดำเนินการ ร้องทุกข์กล่าวโทษนายจ้าง ตามฐานความผิดดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวน สน.บางโพงพาง
จากนั้นพนักงานตรวจความปลอดภัยจะตรวจสอบเพิ่มเติมว่า นายจ้าง ฝ่าฝืนและทำความผิดกฎหมายข้อใดบ้าง ทั้งมาตรา 14 กรณีงานที่มีอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกาย จิตใจ นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบและทำคู่มือปฏิบัติงานแจก หรือมาตรา 16 ที่นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างทุกคนได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัย หรือมาตรา 17 นายจ้าง ต้องติดประกาศสัญลักษณ์เตือนอันตรายและเครื่องหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งหากพบว่ามีความผิด จะมีโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบความปลอดภัยของลูกจ้างในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากมีสถานประกอบการกว่า 4 แสนแห่งขณะที่เจ้าหน้าที่พนักงานตรวจของ กสร.มีเพียง 1,200 คน จึงทำให้การตรวจสอบไม่ทั่วถึง รวมถึงไซต์ก่อสร้างนี้ด้วย.-สำนักข่าวไทย