กรุงเทพฯ 23 ม.ค. – รัฐบาลไทยชวนเอกชน 10 ชาติอาเซียน ร่วมกันสร้างอาเซียนเป็นแหล่งลงทุนที่ 3 ดึงนักลงทุนจากทั่วโลก ด้าน ส.อ.ท.ชวนภาคเอกชนอาเซียนเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในการสัมมนา ASEAN Economic Outlook 2019 ซึ่งจัดโดยสภาที่ปรึกธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย ว่า ขณะนี้มีทั้งข่าวร้าย ข่าวดี และความท้าทาย โดยข่าวร้าย คือ เศรษฐกิจโลกกำลังผันผวนและมีความยากลำบากเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับภาคธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะมีความยากลำบากเพิ่มขึ้น เพราะมีข่าวดีที่สลับไปมากับข่าวร้าย อย่างไรก็ตาม มีเรื่องที่ดี คือ ภูมิภาคอาเซียนมีความเข้มแข็งสามารถนำจุดนี้มาเป็นจุดดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาในภูมิภาคได้ เนื่องจากขณะนี้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่มีผลกระทบต่อฐานการผลิต เช่น จีน ส่งผลดีกับอาเซียนที่จะเป็นแหล่งย้ายฐานการผลิตได้ แต่โอกาสที่จะดึงดูดการลงทุนเข้ามาในอาเซียนจะสำเร็จหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับความร่วมมือของสมาชิกอาเซียนทั้งหมดในภาพรวม ทั้งนี้ เพื่อทำให้ 50 ปีที่ 2 ของการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็น 50 ปีที่มีความหมาย
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามการค้ากรณีตัวอย่างประเทศไทย ขณะนี้นักลงทุนจีนต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยซื้อพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมากบางรายซื้อที่ดินก่อนและจะทยอยขอรับส่งเสริมการลงทุนภายหลัง ขณะที่นักลงทุนบางส่วนพร้อมที่จะโยกย้ายเครื่องจักรเข้ามาดำเนินการผลิตในประเทศไทย เพราะขณะนี้นักลงทุนจากจีนไม่ต้องการผลิตสินค้าในจีนอีกต่อไป แต่ต้องการย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นนอกประเทศจีน ดังนั้น โอกาสเกิดขึ้นสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ชาติจึงเป็นความหวังที่จะช่วยกันผลักดันให้อาเซียนเป็นทางเลือกที่ 3 ในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจากทั่วโลก เพราะประเทศในอาเซียนเป็นประเทศเล็กจะอยู่เพียงลำพังไม่ได้จะต้องร่วมมือกันถึงจะมีพลังในการดึงดูดการลงทุนที่สำคัญ เพราะด้วยขนาดตลาดที่มีประชากรรวมกว่า 800 ล้านคนมากเกินพอ ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจดีและมีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการลงทุนด้วย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้จำเป็นที่สมาชิกอาเซียนควรให้ความสำคัญและเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 จึงต้องการกระตุ้นให้ภาคเอกชนตระหนักถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 สู่การเพิ่มพูนการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน และยังขอให้ภาคเอกชนในอาเซียนควรแสดงบทบาทเชิงรุกพัฒนาขีดความสามารถและยกระดับทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ และความร่วมมือระหว่างกันของประเทศสมาชิกกับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล พร้อมมุ่งไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 อย่างแท้จริง การสัมมนาวันนี้ยังชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายในการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลกโดยเฉพาะ MSME หรือธุรกิจขนาดเล็กด้วยท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย