กรุงเทพฯ 15 ม.ค. – ก.พลังงานห่วงปัญหาฝุ่นเกินมาตรฐาน เรียกคุยโรงกลั่นฯ พร้อมปรับมาตรฐานผลิตน้ำมันเป็นยูโร 5 ได้เมื่อใด โดยที่ผ่านมาโรงกลั่นห่วงต้นทุนภาคประชาชนเพิ่มจากต้นทุนดีเซลพุ่ง 0.50-1.00 บาท/ลิตร
น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีความเป็นห่วงปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงสั่งการให้ ธพ.เรียกประชุมกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันภายในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือร่วมกันว่าจะดำเนินการร่วมกันอย่างไร เพื่อปรับการผลิตน้ำมัน จากมาตรฐานบังคับในปัจจุบันที่เป็นมาตรฐานยุโรประดับที่ 4 หรือยูโร 4 (กำมะถัน 50 PPM) เป็นมาตรฐานยูโร 5 (กำมะถัน 10 PPM) หากเร่งดำเนินการได้ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาผลการศึกษาของทางราชการเมื่อหลายปีก่อนคาดว่าจะต้องมีการลงทุนเพิ่มไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท โดยต้นทุนเหล่านี้จะต้องเพิ่มในต้นทุนของราคาน้ำมันดีเซล
“ปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน เกิดจากหลายปัญหา เช่น เครื่องยนต์ ดีเซลเก่า ไม่มีการบำรุงรักษาที่ดี เมื่อสันดาปไม่สมบูรณ์ก็เกิดปัญหา หากใช้น้ำมันยูโร 5 ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ส่วนสำคัญต้องดูแลควบคุมรถยนต์ควันดำด้วย ซึ่ง รมว.พลังงานก็ต้องการรับฟังความเห็นจากโรงกลั่นฯ ว่าควรจะพร้อมปรับเป็นยูโร 5 เมื่อใด” อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประเทศไทยได้ปรับเพิ่มมาตรฐานโรงกลั่นมาโดยตลอด โดยประกาศใช้มาตรฐานยูโร 4 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2555 และเดิมกรมควบคุมมลพิษได้มีแผนจะประกาศใช้มาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่ปี 2561 และให้ทุกโรงกลั่นฯ เริ่มผลิตได้ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษยังไม่ได้มีการเสนอ คณะรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดการประกาศใช้มาตรฐานยูโร 5 แต่อย่างใด โดยปกติแล้วหลังประกาศใช้ทางกรมธุรกิจพลังงานจะประกาศมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 โดยให้โรงกลั่นฯ ต้องใช้เวลาปรับปรุงประมาณ 5 ปี
ทั้งนี้ เมื่อปี 2560 ทางกรมควบคุมมลพิษได้หารือกับค่ายรถยนต์และ 6 โรงกลั่นฯ ของไทย ซึ่งขณะนี้มีบางส่วนของ 3 โรงกลั่น ได้แก่ บมจ.บางจากฯ, บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิเคอล , บมจ.ไทยออยล์ เริ่มผลิตยูโร 5 ได้แล้ว ในขณะอีก 3 โรงยังไม่ได้เริ่มผลิต ได้แก่ เอสโซ่ , ไออาร์พีซี และโรงกลั่นเอสพีอาร์ซี โดยกลุ่มโรงกลั่นบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการปรับมาตรฐานยูโร 5 เพราะต้องมีการลงทุนประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โรงกลั่นฯ หรือรวม 6 โรงกลั่นกว่า 80,000 ล้านบาท และอาจมีผลทำให้ต้นทุนดีเซลของภาคประชาชนต้องปรับเพิ่มประมาณ 0.50-1.00 บาท/ลิตร ขณะที่ยังไม่แน่ชัดด้านข้อมูลมลพิษ และต้องดูถึงการผลิตรถยนต์รองรับยูโร 5 มากน้อยเพียงใด จึงทำให้การประกาศมาตรฐานยูโร 5 ไม่คืบหน้า ขณะที่ยุโรป และหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง จะประกาศใช้มาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่ปี 2565 แต่ในอาเซียนยังไม่มีรายใดประกาศใช้แต่อย่างใด. -สำนักข่าวไทย