กรุงเทพฯ 12 ม.ค. – ก.เกษตรฯ เตรียมเสนอรัฐบาลพิจารณาให้กระทรวงคมนาคมใช้แผ่นยางรองรางรถไฟ ระบุไทยกำลังลงทุนครั้งใหญ่โครงการระบบรางมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท หวังสร้างเสถียรภาพราคายางพาราระยะยาว พร้อมส่งคลิปแบบผนังทางโค้งป้องกันอุบัติเหตุให้หน่วยงานเกษตรฯ เร่งศึกษาใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมทดแทนนำเข้าได้เพียบ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้ส่งไลน์ด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงเกษตฯ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รวมทั้งผู้ช่วยทูตฝ่ายเกษตรในต่างประเทศ รวมทั้งให้ศึกษาคลิปแบบผนังป้องกันอุบัติเหตุถนนโค้งที่เรียกว่า Safety Rolling Barriers ที่ส่งมาว่า มีส่วนประกอบของยางพาราใช่หรือไม่ และต้นทุนการผลิตสูงกว่าคันกั้นถนนโค้ง ทางโค้งทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบทในประเทศไทยหรือไม่ สามารถใช้ทดแทนกันได้หรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นพบว่าเป็นนวัตกรรมใหม่มีใช้ในหลายประเทศ ทั้งยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย เกาหลี จีน โดยมาเลเซียวิจัยว่า สามารถลดความรุนแรงของอุบัติเหตุได้ถึงร้อยละ 94 ซึ่งตามข้อมูลระบุว่า ทำจากวัสดุสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่นเหมือนยาง ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำยางพารามาเป็นวัตถุดิบการผลิต หากประสบผลสำเร็จจะนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณานำไปใช้ตามนโยบายสนับสนุนการใช้ยางพาราภายในประเทศของรัฐบาลต่อไป
นายกฤษฎา กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยกำลังเตรียมลงทุนระบบรางครั้งใหญ่มูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท เพื่อรองรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หากมีการเพิ่มใช้ยางในประเทศมากขึ้นจะทำให้ไทยไม่ต้องไปอิงราคาตลาดล่วงหน้า จึงจะเสนอรัฐบาลพิจารณาให้กระทรวงคมนาคมเลือกใช้แผ่นยางรางรถไฟที่ทำจากยางพาราในส่วนที่ต้องทำรางใหม่และทดแทนของเดิมที่ชำรุด ซึ่งที่ใช้อยู่นั้นทำจากพลาสติกทั้งนี้ หากนำไปใช้อย่างน้อยร้อยละ 50 ของโครงสร้างระบบรางทั้งหมด เชื่อว่าชาวสวนยางจะได้รับประโยชน์ โดยขายยางพาราผ่านสถาบันเกษตรกร หรือ กยท.รวบรวมแล้วส่งผลให้ราคายางพารามีเสถียรภาพระยะยาว
นายกฤษฎา กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้ กยท.จะเสนอแผนการใช้ยางพารารูปแบบอื่น ๆ ให้คณะกรรมการ กยท.เห็นชอบ หากบอร์ดเห็นชอบจะให้ กยท. ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้หน่วยงานอื่น ๆ นำไปจัดซื้อจัดจ้างได้ทันที เช่น แผ่นยางปูพื้นสนามกีฬา บล็อกยางปูพื้นตัวหนอนทำทางเท้าให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นและเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้น ทำให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดผลกระทบจากสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำ สร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง.-สำนักข่าวไทย