สำนักข่าวไทย 13 มค..–ทันตแพทยสภาสอบใบประกอบวิชาชีพผ่านระบบออนไลน์ทั่วประเทศเป็นครั้งแรก ใช้ระบบดิจิทัลช่วยให้รูปถ่ายเคสต่างๆ รวมทั้งฟิล์มเอกซเรย์ชัดเจน วัดความรู้นักศึกษาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมนักศึกษาในต่างจังหวัดไม่ต้องเดินทางมาสอบที่ส่วนกลาง
ผศ.ทพ.บัณฑิต จิรจริยาเวช ประธานศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม (ศ.ป.ท.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 12-13 ม.ค. 2562 นี้ มีการสอบประเมินความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพทันตกรรมของนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 4 และ 6 โดยการสอบในปีนี้เป็นการสอบแบบออนไลน์เต็มระบบทั่วประเทศเป็นครั้งแรก มีผู้เข้าสอบพร้อมกันกว่า 800 คนทั่วประเทศ
ในส่วนของการสอบนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 4 จะเป็นการสอบวัดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน / ส่วนนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 6 เป็นการสอบความรู้พื้นฐานทางด้านคลินิก แต่เดิมใช้การสอบแบบข้อเขียนบนกระดาษตามปกติ ซึ่งประสบปัญหาคือรูปภาพในกระดาษจะไม่ชัด ทำให้มีผลกับการทำข้อสอบ แต่เมื่อนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ รูปถ่ายเคสต่างๆ หรือฟิล์มเอกซเรย์ก็ชัดเจนขึ้น ทำให้นักศึกษาเข้าใจและทำข้อสอบได้ดีขึ้น การประมวลผลก็ง่ายขึ้น รวมทั้งจัดให้มีสนามสอบทั่วประเทศ นักศึกษาไม่ต้องเดินทางมาศูนย์สอบที่ส่วนกลาง ลดภาระค่าใช้จ่ายของนักศึกษา ทำให้มีเวลาเตรียมตัวมากยิ่งขึ้น
“ระบบนี้ก็ทำให้เกิดความยุติธรรมและความเที่ยงตรงในการประมวลผล ก่อนหน้านี้เราก็มีการทดลองสอบบนระบบออนไลน์แต่ยังทำไม่เต็มจำนวน ส่วนปีนี้เป็นปีที่ออนไลน์ครบทั้งระบบเป็นครั้งแรก ถือเป็นวิชาชีพแรกๆ ที่ใช้การสอบออนไลน์เข้ามาช่วย” ผศ.ทพ.บัณฑิต กล่าว
ด้าน ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า เท่าที่ได้รับรายงานพบว่าการจัดสอบเป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีสนามสอบไหนที่มีปัญหาเลย การใช้ระบบออนไลน์ก็มีประสิทธิภาพดีค่อนข้างน่าพอใจ สามารถสอบพร้อมกันหมดทั่วประเทศ เด็กต่างจังหวัดก็ไม่ต้องเดินทางเข้ามาที่ส่วนกลาง สามารถสอบในพื้นที่ของตัวเองได้เลย
“เดิมเราใช้ระบบพิมพ์ข้อสอบ รูปที่พิมพ์ลงไปไม่ชัด จะพิมพ์สีก็ลำบาก รูปเอกซเรย์เลิกพูดได้เลย การจะวัดว่าเด็กนักเรียนอ่านฟิล์มเป็นหรือไม่ทำไม่ได้เลย แต่ในรูปแบบของระบบดิจิทัลสามารถทำได้หมด รูปภาพเคส เนื้องอก ภาพจากกล้องจุลทรรศน์ ลักษณะฟันผุ โรคในช่องปากทั้งหลายสามารถใช้เป็นรูปสีได้ ภาพเอกซเรย์ก็สามารถลงได้ในคอมพิวเตอร์ เห็นได้ชัดเจนกว่าเดิม ทำให้การวัดความรู้ของนักศึกษาดีขึ้น เป็นการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าเด็กที่จบไปจะมีความรู้ความสามารถในการดูแลประชาชนได้จริงๆ เมื่อเห็นว่าระบบทุกอย่างทำงานดีเช่นนี้ การสอบครั้งต่อๆ ไปก็จะใช้รูปแบบนี้ต่อไปและจะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต”ทพ.ไพศาล กล่าว.-สำนักข่าวไทย