กรุงเทพ ฯ 2 ม.ค. – รายงาน กนง.ระบุเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐานจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ความผันผวนตลาดการเงินโลก การบริโภคภาคเอกชนที่อาจขยายตัวต่ำกว่าประเมิน ปรับลดจีดีพีปี 61 และ 62 เหลือโตร้อยละ 4.2 และ 4 พร้อมระบุการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ต่อเนื่องเหมือนในอดีต
คณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง.) เผยแพร่ผลการประชุมเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ว่า กนง.ปรับประมาณการ เศรษฐกิจไทยใหม่ โดยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.2 และปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 4 ปรับลดลงจากที่ประเมินไว้ครั้งก่อนที่ร้อยละ 4.4 และ 4.2 ตามลำดับ โดยโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐานมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ ได้แก่ มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่อาจเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และความผันผวนในตลาดการเงินโลกในกรณีที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (no-deal Brexit) นอกจากนี้ ยังมีการบริโภคภาคเอกชนที่อาจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากกำลังซื้อในประเทศที่ยังขยายตัวไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะรายได้ภาคเกษตรที่อาจลดลงมากกว่าคาด และการใช้จ่ายภาครัฐที่อาจต่ำกว่าคาดจากข้อจำกัดในการเบิกจ่ายและการดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจมีความต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอและมีแนวโน้มขยายตัวสอดคล้องกับศักยภาพสามารถรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 1.75 ในครั้งนี้ได้ โดยประเมินว่าการลดระดับความผ่อนคลายของนโยบายการเงินลงเล็กน้อยจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป แต่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนระยะยาว ความจำเป็นที่ต้องพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับที่ผ่านมาจึงลดน้อยลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้จะช่วยสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคตเมื่อมีโอกาส
คณะกรรมการฯ เห็นว่าการใช้เครื่องมือเชิงนโยบายผสมผสานกันทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential measures) จะช่วยให้การดูแลเสถียรภาพระบบการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานเอื้อให้เกิดการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินต่อเนื่อง และเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้จะช่วยทยอยปรับสมดุลต่อพฤติกรรมการบริโภค การออม การกู้ยืม และการลงทุน รวมทั้งช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนระยะยาว โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินภายใต้ภาวะที่สภาพคล่องในระบบการเงินไทยยังอยู่ในระดับสูง เพิ่มเติมจากการที่อัตราผลตอบแทนในตลาดการเงินโดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นได้ทยอยปรับตัวไปก่อนหน้าแล้ว เพื่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพโดยไม่กระทบต่อศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะยังมีความเหมาะสมในระยะข้างหน้า และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยอาจไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่องดังเช่นในอดีต ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะประเมินสถานการณ์ตามพัฒนาการของข้อมูลเป็นสำคัญ (data-dependent) ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป.- สำนักข่าวไทย