กรุงเทพฯ 25 ธ.ค.-นักท่องเที่ยวขยายตัวการใช้น้ำมันเครื่องบิน (JET) พุ่งต่อเนื่อง ไทยออยล์คาดไทยต้องนำเข้าปี 65 ย้ำลงทุน CFP แล้วเสร็จปี 66 ช่วยให้ไทยมีJET เพียงพอ คุยออกหุ้นกู้1 พันล้านเหรียญปีนี้ลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยพุ่ง
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) คาดแนวโน้มประเทศไทยอาจจะต้องมีการนำเข้าน้ำมันเครื่องบินในช่วงปี 2565 จากที่ปัจจุบันไม่มีการนำเข้า ในขณะที่ความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้น จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว และไทยขยายพื้นที่สนามบินมากขึ้น เช่น โครงการสนามบินอู่ตะเภา ดังนั้น โครงการลงทุนใหม่ เพื่อขยายกำลังผลิตของโรงกลั่นไทยออยล์ หรือ โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project :CFP) ที่จะแล้วเสร็จในปี 2566 ก็ทำให้ไทยอาจไม่ต้องนำเข้าน้ำมันเครื่องบินได้อีกอย่างน้อย 5-10 ปี
ทั้งนี้ ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศไทย ในส่วนของน้ำมันเครื่องบินในช่วงครึ่งแรกของปี 61 อยู่ที่ 21 ล้านลิตร/วัน ส่วนครึ่งหลังได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนชะลอตัว ส่งผลให้การใช้น้ำมันเครื่องบินอยู่ที่ประมาณ 17-18 ล้านลิตร/วัน แต่ขณะนี้นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมา การใช้กำลังเพิ่มขึ้น โดยรวมแล้วปี 61 การใช้มันเครื่องบินขยายตัวร้อยละ 5.9 ส่วนปี 62 คาดขยายตัวร้อยละ 3.1 ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลปีนี้ขยายตัวร้อยละ 1.3 ปีหน้าคาดขยายตัวร้อยละ 3-4 น้ำมันกลุ่มเบนซินคาดปีนี้ขยายตัวร้อยละ 2.6 ปีหน้าขยายตัวร้อยละ3.8 บนคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 และโครงการลงทุนภาครัฐเป็นไปตามแผนงาน ขณะที่การท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี
สำหรับงบประมาณลงทุนของไทยออยล์ ช่วง 5 ปี (ปี 62-66)วงเงิน 5.16 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ ร้อยละ90 หรือราว 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใช้ในโครงการ CFP เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่น และเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันเป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน จาก 2.75 แสนบาร์เรล/วันในปัจจุบัน กำหนดแล้วเสร็จในปี 66 ส่วนที่เหลืออีกราว 400-500 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเป็นการลงทุนเพื่อปรับปรุงสาธารณูปโภคหลายโครงการ เช่นปรับปรุงท่าเรือ เพื่อให้สามารถรับเรือได้เพิ่มขึ้น ,สร้างถังน้ำมันดิบเพิ่มเติม ในขณะที่เงินลงทุนรวมสำหรับในปี 62 ที่ระดับ 1.37 พันล้านเหรียญ
สำหรับเงินลงทุนดังกล่าว จะมาจากกระแสเงินสดของบริษัทที่มีอยู่ราว 6-7 หมื่นล้านบาท และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ออกหุ้นกู้อีก 1 พันล้านเหรียญ หรือ 3.2 หมื่นล้านบาท ทำให้บริษัทมีสภาพคล่อง 1 แสนล้านบาท เพียงพอรองรับการลงทุนจนถึงช่วงปี 63 ที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องระดมทุนเพิ่มเติม ปัจจุบันบริษัทมีภาระหนี้ 7.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหนี้หุ้นกู้สกุลบาท ร้อยละ32 , หนี้เงินกู้บาทร้อยละ 19 ส่วนที่เหลือร้อยละ 49 เป็นหนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐ
“การที่ไทยออยล์ ออกหุ้นกู้เร็วในปีหน้า 1 พันล้านเหรียญในปีนี้ ก็เนื่องจากคาดว่า แนวโน้มดอกเบี้ยโลกและในไทยจะเป็นขาขึ้น จะเห็นได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางของไทย ก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้วและมีแนวโน้มปรับขึ้นอีกในหน้า การกู้มาทำให้ต้นทุนต่ำและจะมีการบริหารจัดการการเงินในส่วนสภาพคล่อง เพื่อให้ต้นทุนต่ำที่สุดอีก”นายอธิคมกล่าว
นายอธิคม กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินงานโรงไฟฟ้าขนาด 250 เมกะวัตต์ มูลค่า 651 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CFP นั้น ปัจจุบันได้เจรจากับ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งเป็นบริษัทแกนด้านธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) นั้นเพื่อให้เป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดเพื่อให้เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายในเร็วๆนี้ โดย ไทยออยล์ต้องมีส่วนสำคัญในการบริหารโรงไฟฟ้า เพราะโรงไฟฟ้าเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องๆดำเนินการพร้อมกับโครงการ CFP -สำนักข่าวไทย