กรุงเทพฯ 20 ธ.ค. – รมว.เกษตรฯ สั่งทุกหน่วยงานเร่งสำรวจพื้นที่เกษตรเสียหายจากน้ำท่วม พร้อมวางมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ฤดูฝนภาคใต้อย่างใกล้ชิด
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ว่า มีความห่วงใยประชาชนและเกษตรกรได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานลงพื้นที่เร่งสำรวจความเสียหายพื้นที่เกษตรเพื่อวางมาตรการการช่วยเหลือแก้ไขความเดือดร้อนเกษตรกรโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ก่อนเข้าฤดูฝนภาคใต้ได้เน้นย้ำกรมชลประทานให้นำเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักรกล เครื่องมือเปิดทางน้ำ ไปติดตั้งไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม 75 จุด ใน 16 จังหวัด เพื่อสามารถดำเนินการช่วยพื้นที่ได้ทันท่วงที พร้อมแผนเผชิญเหตุเมื่อเกิดสถานการณ์น้ำหลากหรือน้ำท่วมขัง โดยเร่งระบายน้ำเร็วที่สุด รวมทั้งป้องกันพื้นที่เขตเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ กรณีมีน้ำท่วมขังระบายออกจากพื้นที่ให้กลับสู่ปกติโดยเร็วภายใน 1-2 วัน รวมทั้งยังให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ฤดูฝนภาคใต้อย่างใกล้ชิด
ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ล่าสุดมีฝนตกหนักพื้นที่จังหวัดตรังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ติดกับเทือกเขาบรรทัดวัดปริมาณฝนสูงสุดที่ อ.นาโยง ได้ 216 มิลลิเมตร ทำให้เกิดน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.นาโยง อ.ย่านตาขาว อ.ห้วยยอด และ อ.เมืองตรัง ซึ่งน้ำได้ไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร ระดับน้ำสูงประมาณ 0.5 – 2 เมตร
ปัจจุบันน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่ อ.นาโยง ส่วนหนึ่งจะไหลไปลงคลองปะเหลียนและไหลลงสู่ทะเลอันดามันตามลำดับ อีกส่วนหนึ่งจะไหลลงสู่คลองนางน้อย และไหลลงไปสบทบกับแม่น้ำตรังไหลผ่าน อ.เมืองตรัง ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำตรังเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่เอ่อล้นตลิ่ง โดยที่สถานี X.228 บ้านกลาง อ.เมืองตรัง ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 92 เซนติเมตร หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุดประมาณ 340-350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงเวลาประมาณ 12.00-13.00 น. ของวันนี้ (ต่ำกว่าตลิ่ง 70 – 80 เซนติเมตร) ส่วนที่สถานี X.234 บ้านป่าหมาก อ.เมืองตรัง ระดับต่ำกว่าตลิ่ง 1.81 เมตร หากไม่มีฝนตกเพิ่มในพื้นที่ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุดประมาณ 340-350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงเวลาประมาณ 19.00-20.00 น. ของวันนี้ (ต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 70 – 80 เซนติเมตร) ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจในเขตเทศบาลนครตรัง
ทั้งนี้ กรมชลประทานโดยโครงการชลประทานตรังเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง ที่อำเภอเมืองตรัง แยกเป็นบริเวณวัดประสิทธิชัย 2 เครื่อง และบริเวณท่อระบายน้ำ (ทรบ.) ต่อยไห 2 เครื่อง นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำไว้ที่โครงการชลประทานตรังอีก 13 เครื่อง ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังสามารถผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำตรังด้วยคลองผันน้ำ ซึ่งกรมชลประทานกำลังดำเนินการก่อสร้างโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรังพร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ประสานบูรณาการทำงานร่วมกับจังหวัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างทั่วถึงแล้ว.-สำนักข่าวไทย