กระทรวงเกษตรฯ เร่งลุยโครงการปลูกข้าวโพดหลังนา ยอดสมัครพุ่งถึงร้อยละ 75.06 ของพื้นที่สำรวจ มุ่งเดินหน้าให้ได้ตามเป้าหมาย 1 ล้านไร่ ให้ทุกหน่วยงานทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐ ที่กำหนดราคาซื้อขายให้มีกำไร อีกทั้งมีประกันภัยรองรับ กรณีเกิดความเสียหาย
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า กำลังเร่งการสมัครของเกษตรกรใน 37 จังหวัดที่ร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ซึ่งขณะนี้มีสำรวจความต้องการได้พื้นที่ 1,023,276 ไร่ สมัครแล้ว 768,120 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 75.06 ของพื้นที่สำรวจ ยังคงเปิดรับสมัครถึงวันที่ 15 มกราคม 62 จึงสั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมชลประทาน กรมปศุสัตว์ และกรมพัฒนาที่ดินซึ่งแบ่งความรับผิดชอบในจังหวัดต่างๆ เพื่อเร่งรัดเชิญชวนให้เกษตรกรสมัครร่วมโครงการเพิ่มให้ครบตามจำนวนพื้นที่สำรวจ
ขณะนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวทั้งระดับจังหวัดและอำเภอให้วางแผนการเพาะปลูก คาดการณ์ปริมาณผลผลิต รวมถึงจัดเครื่องจักรกลสนับสนุนการเพาะปลูกทุกพื้นที่ แล้วให้รายงานความคืบหน้ามายังศูนย์ปฏิบัติการ (War Room) ส่วนกลางทุกวัน
นอกจากนี้ได้รับรายงานจากนายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรว่า รับมอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากสมาคมประกันวินาศภัยไทยมูลค่า 10 ล้านบาท สำหรับการบริหารจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการสนับสนุนในการปรับปรุงฐานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การรายงานความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และรองรับการขยายการประกันภัยพืชผลของประเทศไทยให้ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจทุกชนิดตามนโยบายรัฐบาล โดยประสานงานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสมาคมประกันวินาศภัยไทยเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลเอกสารทะเบียนเกษตรกร แบบประมวลรวบรวมความเสียหายและการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย และแบบรายงานข้อมูลความเสียหายจริงของเกษตรกร รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบฐานข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ให้สามารถรองรับการเพิ่มพื้นที่เป้าหมายในอนาคต และรองรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้รวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น อีกทั้งเก็บข้อมูลพื้นที่ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 โดยแยกประเภทพืชต่างๆ ระบบประกันภัย นอกจากจะช่วยบรรเทาผลกระทบยามเกิดภัยพิบัติให้กับเกษตรกรได้แล้ว ในอนาคตหากระบบนี้เป็นที่ยอมรับและแพร่หลายจะช่วยลดงบประมาณรัฐที่ใช้เยียวยาภาคการเกษตรที่ต้องเสียไปในแต่ละ 7,000-8,000 ล้านบาทต่อปี ขอให้เกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว หลังจากการปลูกข้าวโพด 15 วัน รีบแจ้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ที่สำนักงานเกษตรอำเภอเพื่อเข้าสู่ระบบประกันภัยต่อไป
“สำหรับเกษตรกรที่ไม่เคยปลูกข้าวโพดนั้น ไม่ต้องกังวล ทั้งกรมส่งเสริมการเกษตรและสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ของไทยจะให้คำแนะนำและช่วยดูแลแปลงอย่างใกล้ชิด เมื่อข้าวโพดออกฝัก ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยพร้อมรับซื้อทั้งหมด โดยตั้งจุดรับซื้อครอบคลุมทุกอำเภอ วันนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กิโลกรัมละ 9.87 บาท ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นอีกเนื่องจาก โรงงานผลิตอาหารสัตว์ต้องการใช้ แต่ผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ จนต้องแข่งกันรับซื้อ ตามโครงการฯ รับประกันราคารับซื้อไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท แต่ทางสมาคมฯ มั่นใจว่า อีก 4 เดือนข้างหน้า เมื่อผลผลิตออกราคาที่ความชื้นร้อยละ 14.5 จะไม่ต่ำกว่า 9 บาทต่อกิโลกรัมแน่นอน” นายกฤษฎากล่าว
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ซึ่งรับผิดชอบการส่งเสริมปลูกข้าวโพดใน 9 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เคยปลูกข้าวโพดมาก่อน ทำแต่นาปรัง วันนี้ได้เป็นประธานงานวันสาธิตและจัดแปลงเรียนรู้การปลูกข้าวโพดหลังฤดูทํานา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ทางวิชาการในเรื่องการปลูก การใช้เมล็ดพันธุ์ดี การดูแลรักษา การป้องกันโรคและแมลง การเก็บเกี่ยว ตลอดจนการตลาด 2) ให้เกษตรกรได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยในงานมีฐานเรียนรู้ 5 ฐานได้แก่ ฐานข้อมูลโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทํานา ฐานการเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ ฐานการเตรียมดิน การปลูกสาธิตการหยอดเมล็ดพันธุ์ ฐานการให้น้ำ การกําจัดวัชพืช การให้ปุ๋ย การกำจัดโรคและแมลงศัตรู และการใช้สารชีวภัณฑ์ และฐานการตลาด รวมถึงมาตรฐานเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ทั้งนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่สําคัญของประเทศไทยเนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่สําคัญในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อปี โดยปัจจุบันพบว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 8 ล้านตัน แต่ผลิตได้ในประเทศเพียง 5 ล้านตัน ทําให้ต้องมีการนําเข้าข้าวสาลีเป็นวัตถุดิบทดแทน หากส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มากขึ้นจะส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกรและลดการเสียดุลทางการค้าจากการนำเข้าข้าวสาลี . – สำนักข่าวไทย