อุทัยธานี 7 ก.ย.-เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี ถือเป็นเรือนจำต้นแบบที่ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ชาย และข้ามเพศ อย่างเหมาะสม และคำนึงถึงความต่างของเพศสภาวะมากที่สุด
พื้นที่ 4 ไร่ของเรือนจำ จ.อุทัยธานี อายุเกือบ 100 ปี รองรับผู้ต้องขังชาย หญิง และข้ามเพศกว่า 800 คน แม้เนื้อที่จำกัด แต่เรือนจำแห่งนี้ได้รับยกย่องให้เป็นต้นแบบการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ข้ามเพศ และผู้กระทำผิดทางเพศ
ภายในแดนหญิง ออกแบบตามกฎสหประชาชาติและข้อกำหนดกรุงเทพฯ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง คือ จัดพื้นที่สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ให้ได้รับสิทธิดูแลบุตร ฝึกทักษะอาชีพ ประดิษฐ์ของใช้ ทำขนม นวดแผนไทย และเปิดสอนระดับชั้น ปวช.ในสาขาคอมพิวเตอร์
ผู้ต้องขังคดียักยอกทรัพย์รายนี้มองว่า สิทธิที่จะได้รับการดูแลในฐานะพลเมืองของรัฐ ควรเท่าเทียม ทั้งการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคน และให้การศึกษา แม้เรือนจำจะดูแลดีเพียงใด แต่การไม่กระทำผิดย่อมดีกว่า
ขณะที่แดนผู้ต้องขังชาย ทุกเช้าจะฝึกวินัยและทำกิจกรรมสวดมนต์เพื่ออธิษฐานให้ตนเองและเหยื่อ ก่อนแยกย้ายฝึกวิชาชีพ ด้านผู้กระทำผิดทางเพศทั้งคดีล่อลวงข่มขืนและกระทำชำเราจะไปรวมตัวที่ห้องสมุดเปลี่ยนชีวิต เข้าโปรแกรมแก้ไขและฟื้นฟู ปรับทัศนคติทางเพศ สร้างทักษะการควบคุมอารมณ์ เพื่อป้องกันการผิดซ้ำ เช่นเดียวกับผู้ต้องขังข้ามเพศ จะเข้าโปรแกรมคล้ายกับผู้ต้องขังหญิง ที่เหมาะสมและคำนึงถึงความต่างของเพศสภาวะ
เรือนจำ 144 แห่งทั่วประเทศ ที่นี่เป็นเรือนจำขนาดเล็กที่ดูแลและพัฒนาผู้ต้องขังอย่างครบถ้วน 5 ด้าน คือ ขจัดปัญหายาเสพติด ฝึกวินัย ขัดเกลาจิตและสมาธิ สร้างการยอมรับจากสังคม และจัดระเบียบเรือนจำ
แนวทางการทำงานของเรือนจำ ถือเป็นการช่วยคืนคนดีสู่สังคมในช่วงปลายเหตุ แต่ต้นเหตุนั้นทุกคนสามารถช่วยกันเปิดพื้นที่ ให้โอกาสและยอมรับผู้หลงผิด เพื่อไม่ให้กลับมากระทำผิดซ้ำ ทำให้อาชญกรในประเทศเพิ่มขึ้น.-สำนักข่าวไทย