กรุงเทพฯ 30 พ.ย. – เกษตรฯ มั่นใจเพิ่มใช้ยางในประเทศอีก 800,000 ตัน จะกระตุ้นราคาตลาดโลกปรับสูงขึ้น
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทูตเกษตรทุกประเทศสรุปแนวนโยบายการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ซึ่งกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนรับซื้อยางพาราจากสถาบันเกษตรกรโดยตรง พร้อมทั้งเร่งขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ในปริมาณมากและเร็วที่สุด ทั้งนี้ ให้ทูตเกษตรเผยแพร่ปริมาณยางพาราที่จะลดลง เพื่อกระตุ้นราคายางพาราในตลาดซื้อขายล่วงหน้า
นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า ตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าของโลกเป็นตลาดที่อ่อนไหวต่ออุปสงค์และอุปทาน เนื่องจากทำสัญญาแล้วส่งมอบสินค้าภายหลัง ซึ่งใน 5 ปีที่ผ่านมาราคาซื้อขายล่วงหน้าต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เพราะปริมาณยางพาราที่ออกสู่ตลาดโลกมีมาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ว่าปริมาณยางพาราที่ไทยผลิตปีนี้ 4.8 ล้านตัน โดยเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก ส่งออกประมาณปีละ 4 ล้านตัน หากเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศ 800,000 ตันต่อปี จะไม่มีผลผลิตยางพาราตกค้าง อีกทั้งสตอกยางของผู้ค้าในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ราคาซื้อขายในตลาดล่วงหน้าปรับสูงขึ้น
“ตามมาตรการทำถนนและสหกรณ์แปรรูปยางนั้น ประมาณการว่าจะใช้ยางไม่ต่ำกว่า 820,320 ตัน อีกทั้งกระทรวงเกษตรฯ ยังจะเชิญบริษัทผลิตล้อยางและบริษัทแปรรูปยางมาลงทุนในไทย โดยจะให้สิทธิพิเศษทางภาษีและส่งเสริมการลงทุนทุกด้าน ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะรับซื้อยางโดยตรงจากสถาบันเกษตรกร ดังนั้น จะมีผลให้ราคาซื้อขายยางพาราในไทยสูงขึ้นอย่างแน่นอน” นายกฤษฎา กล่าว
ด้านนายวิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้ราคายางพาราตกต่ำ พบว่า ราคายางพาราตกต่ำตั้งแต่ปี 2555 ปัจจัยแรก คือ การเพิ่มขึ้นของปริมาณยางในสตอกของตลาดโลกเริ่มสะสม เนื่องจากปริมาณการผลิตมากกว่าการใช้ ทำให้ปี 2561 สตอกยางพาราของโลกสูงเป็นประวัติการณ์ ปัจจัยที่ 2 คือ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2554 ทำให้ราคายางสังเคราะห์ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนยางพาราปรับตัวลดลง ปัจจัยที่ 3 คือ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 ต่างฝ่ายจะปรับขึ้นภาษีศุลกากร ทำให้สินค้าที่มีส่วนประกอบของยางพาราปรับตัวสูงขึ้น มีการคาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้ายางรถยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ยางธรรมชาติกว่าร้อยละ 70 ของการใช้ทั้งหมด ทำให้ผู้ผลิตยางรถยนต์ชะลอแผนการผลิตล้อยาง อีกทั้งสงครามการค้าทำให้ค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่าลงส่งผลให้ต้นทุนการซื้อยางพาราจากไทยแพงขึ้น ขณะนี้สตอกยางในจีนซึ่งเป็นผู้ใช้ยางอันดับ 1 ของโลกมีปริมาณสูงขึ้นมาก
จากการคำนวณใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์คาดว่าปริมาณการผลิตยางธรรมชาติทั่วโลกปีนี้ 14,453,000 ตัน ขณะที่ปริมาณการใช้ยางธรรมชาติทั่วโลก 13,921,000 ตัน ดังนั้น ปริมาณการผลิตมากกว่าปริมาณการใช้ถึง 532,000 ตัน ทำให้ปริมาณสตอกยางธรรมชาติของโลกที่สะสมมาต่อเนื่องจนถึงปีนี้จะมากถึง 4,665,000 ตัน ตามผลการคำนวณนี้ราคาที่เกษตรกรจะได้รับสูงสุดจึงอยู่ที่ 41.63 บาทต่อกิโลกรัม หากไทยสามารถทำให้ปริมาณยางพาราในประเทศลดลงได้ 1 ล้านตัน ทั้งจากการเพิ่มปริมาณการใช้และลดปริมาณการผลิตจะทำให้ราคายางพาราสามารถปรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 9.337-13.667 บาทต่อกิโลกรัม แม้ว่าประเทศผู้ผลิตรายอื่นจะยังคงมีปริมาณการใช้และการผลิตเท่ากับปัจจุบัน
“มาตรการล่าสุดของ กนย.เร่งใช้ยางพาราในประเทศควบคู่กับลดพื้นที่ปลูกนั้น เป็นนโยบายที่ถูกทาง ต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด จึงจะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนยางทั้งประเทศได้” นายวิษณุ กล่าว.-สำนักข่าวไทย