กรมการขนส่งทางบก 16 พ.ย.-กรมการขนส่งทางบกพร้อมเสนอกระทรวงคมนาคมกำหนดมาตรการเยียวยากลุ่มผู้เสียหายที่เข้าร่วมโครงการสามล้อเอื้ออาทรที่กู้เงินซื้อรถแต่ถูกธนาคารฟ้องเรียกค่าเสียหาย
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก
เปิดเผยถึงกรณีที่มีกลุ่มผู้ขับสามล้อรับจ้างได้เข้าร่วมโครงการสามล้อเอื้ออาทรของกรมการขนส่งทางบก
เข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยระบุว่าได้ทำสัญญาเงินกู้กับสหกรณ์ฯ
แห่งหนึ่งเพื่อกู้ซื้อรถ และได้จ่ายหนี้ตามที่ตกลงกับสหกรณ์ฯ ไว้มาโดยตลอด
แต่กลับถูกธนาคารฟ้องว่าเป็นหนี้คงค้างในจำนวนเงินที่สูงกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ในตอนแรก
ว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดหารถ หรือติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อขอใช้บริการด้านสินเชื่อ
ผู้ขอรับสิทธิ์ต้องดำเนินการเอง ซึ่งขั้นตอนดังกล่าว
เป็นการจัดทำสัญญาระหว่างผู้ขอรับสิทธิ์กับสถาบันการเงิน
กรมการขนส่งทางบกไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำนิติกรรมสัญญา อย่างไรก็ตาม
หากผู้ขับรถสามล้อรับจ้างยังมีความประสงค์จะประกอบอาชีพขับรถรับจ้างโดยสุจริต
กรมการขนส่งทางบกพร้อมพิจารณาเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำหนดนโยบายและมาตรการเยียวยาที่เหมาะสมแก่กลุ่มผู้เสียหายต่อไป
สำหรับการดำเนินโครงการสามล้อเอื้ออาทร นับตั้งแต่กระทรวงคมนาคมได้ประกาศ
เรื่อง หลักเกณฑ์
วิธีการและเงื่อนไขในการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้อในท้องที่กรุงเทพ มหานคร
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2549 กำหนดรถที่จะรับจดทะเบียนไว้ไม่เกิน 2,500
คัน เมื่อครบกำหนด มีผู้มาใช้สิทธิ 1,686 คัน เหลือจำนวนรถที่ยังจดทะเบียนได้อีกจำนวน
814 คัน และกรมการขนส่งทางบกได้เปิดรับคำขอเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง
มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์จดทะเบียนเพิ่มเติม 380 คัน ยังเหลือสิทธิ์ในการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้ออีก
434 คัน
ประกอบกับจำนวนรถสามล้อรับจ้างที่ให้บริการในปัจจุบัน
เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ มีจำนวน 9,332 คัน และในต่างจังหวัด 10,736 คัน รวมทั่วประเทศจะมีจำนวน 20,068 คัน
ซึ่งถือว่าเพียงพอกับการความต้องการให้บริการในแต่ละท้องที่
และภาครัฐสามารถควบคุมกำกับดูแลคุณภาพการให้บริการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ทำให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ–สำนักข่าวไทย