ระยอง 16 พ.ย.- เลขาฯ ทรัพยากรน้ำแห่งชาติตรวจศักยภาพแหล่งน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เผยแม้ระยะเวลา 10 ปี ยังมีน้ำเพียงพอ แต่ต้องเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำในอนาคตไว้ด้วย ทั้งการหาแหล่งน้ำหรือสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่ม เพราะชุมชนมีแนวโน้มขยายตัว ความต้องการใช้น้ำก็เพิ่มขึ้น
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ จ.ระยอง ตรวจสถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำประแสร์ อำเภอวังจันทร์ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านแหล่งน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC)โดยนายทินกร สุทิน ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ รายงานข้อมูลว่า ภาคตะวันออกมี 8 จังหวัด 4 ลุ่มน้ำ มีความต้องการใช้น้ำรวมเกือบ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ใน 3 กิจกรรม คือ เพื่ออุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และการเกษตร ในส่วนของ 3 จังหวัดตามแผนอีอีซี ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีความต้องการใช้น้ำใน 3 กิจกรรมดังกล่าวเพียง 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปีเท่านั้น
นายสมเกียรติ กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าว แม้สถานการณ์น้ำในปัจจุบันมีเพียงพอถึงระยะเวลา 10 ปี แต่เนื่องจากการเติบโตของอีอีซี อาจกระทบต่อการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และแหล่งน้ำที่มีอยู่ ดังนั้น อีก 10 ปีถัดไปจะต้องหาแหล่งน้ำเพิ่ม หรืออาจสร้างอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเพิ่มอีกในช่วง 2 ปีนี้เช่น ที่จังหวัดชลบุรีต้องนำน้ำมาจากลุ่มน้ำบางปะกง และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต จังหวัดฉะเชิงเทราประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงจากจังหวัดระยองอีก 70 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ จะต้องมีการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำในตัวจังหวัดเองให้มีความเพียงพอยิ่งขึ้น ซึ่งได้วางแผนพัฒนาในช่วงเวลา 10 ปีไว้เรียบร้อยแล้ว และการพัฒนาศักยภาพของน้ำบาดาลที่มีมากกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อเตรียมรองรับการเติบโตของชุมชนในเวลา 20 ปี ที่อยู่นอกเหนือแผนการใช้น้ำปัจจุบันอีก 200- 300 ล้านลูกบาศก์เมตร.-สำนักข่าวไทย