22 ก.ค.68-นายโชติ ตราชู เป็นประธานในการประชุมอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองด้านการพัฒนากีฬา พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการ ครั้งที่ 7/2568 โดยจัดขึ้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ วาระสำคัญของที่ประชุมมี 2 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. รายการงานปรับแผนและการขอเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2568 จำนวนเงิน 310,980,975.63 บาท แบ่งเป็นงบประมาณการเก็บตัวของนักกีฬาออกเป็น 3 แผน ได้แก่ การเก็บตัวฝึกซ้อมของนักกีฬา ซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ณ ราชอาณาจักรไทย (ระหว่างเดือนเมษายน–กันยายน 2568), การเก็บตัวฝึกซ้อมของนักกีฬา อาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ณ ราชอาณาจักรไทย,การให้บริการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาของชาติ (ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม–30 มิถุนายน 2568)
2. การขออนุมัติการใช้งบประมาณสำหรับกิจกรรมที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569(ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 – 30 กันยายน 2569) โดยมีกรอบวงเงิน 4,130 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขเพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุนกิจกรรมกีฬาระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงการพัฒนานักกีฬา บุคลากร และสมาคมกีฬา เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ระดับสูงขึ้นต่อไป
นายโชติ ตราชู ประธานอนุกรรมการฯ เน้นย้ำว่า “การแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 33 เป็นภารกิจสำคัญของประเทศที่ไม่อาจมองข้ามได้เรื่องของการแข่งขันซีเกมส์ เราจะขายหน้าไม่ได้ ประเทศที่เล็กกว่าเรายังสามารถจัดการแข่งขันได้ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ผมให้ความสำคัญกับซีเกมส์ครั้งนี้อย่างมาก หากงบประมาณของกองทุนฯ ในปี 2568 ยังมีส่วนเหลือจากโครงการอื่น เราต้องพิจารณาจัดสรรให้ซีเกมส์เป็นลำดับแรก”
ด้าน นายปรีชา ลาลุน รองผู้ว่าการฝ่ายกีฬาเป็นเลิศและวิทยาศาสตร์การกีฬา ได้ออกมาชี้แจงในที่ประชุม ในเรื่องของการเตรียมนักกีฬาซีเกมส์ช่วงเดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งผมเป็นคนให้ข่าวว่า งบประมาณอยู่ระหว่างการเสนอผ่านฝ่ายกีฬาเป็นเลิศไปยังทางกองทุนกีฬา เพื่อส่งต่อให้กรมบัญชีกลางดำเนินการขั้นตอนสุดท้าย ข่าวที่ออกไปก่อนหน้านี้ อาจทำให้เข้าใจผิดว่าทั้งหมดอยู่ที่กรมบัญชีกลางโดยตรง
ผมจึงขอชี้แจงว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเสนอไปยังบอร์ดกองทุนเพื่อขออนุมัติกรอบงบ 310 ล้านบาท โดยเป็นงบเตรียมนักกีฬาซีเกมส์ 268 ล้านบาท และอีก 41 ล้านบาท เป็นการเสนอเพื่อสนับสนุนการแข่งขันระดับนานาชาติและชิงแชมป์ประเทศไทยผลคือ บอร์ดได้อนุมัติงบ 310 ล้านบาท และให้เรากลับไปจัดทำรายละเอียดให้ครบถ้วนถึงกันยายน 2568 ซึ่งฝ่ายเลขาฯ ได้เสนอรายละเอียด 268 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีก 41 ล้านบาท เราจะพยายามรวบรวมงบภายในเพิ่มเติม และขอเสนอเพิ่มเติมในลำดับถัดไป
ทั้งนี้ ผมได้หารือกับผู้จัดการกองทุนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้รับคำแนะนำให้เราทำรายละเอียดเพิ่มเติมให้ครบ เพื่อสนับสนุน 2 วัตถุประสงค์ คือ การเตรียมนักกีฬา และการดำเนินการจัดการแข่งขันซีเกมส์”
ขณะที่ นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผู้จัดการกองทุนฯ และเลขานุการอนุกรรมการฯ กล่าวเสริมว่า บอร์ดของกองทุนฯ ให้ความสำคัญกับงบประมาณ 310,980,975.63 บาท ที่เกี่ยวข้องกับเบี้ยเลี้ยงการฝึกซ้อมของนักกีฬาซีเกมส์เป็นอย่างมาก
นักกีฬาจะต้องพร้อมที่สุดเพื่อการแข่งขัน เรื่องนี้ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยไม่ต้องนำกลับเข้าที่ประชุมบอร์ดอีก หากล่าช้า อาจกระทบการฝึกซ้อม เราขอให้ทุกฝ่ายพิจารณาอย่างรอบคอบ หากมีงบเหลือจากโครงการอื่น เราจะรวบรวมมาสนับสนุนเพิ่มเติม ซึ่งหากไม่ดำเนินการให้เด็ดขาด อาจต้องกลับเข้าสู่บอร์ดใหญ่อีก ซึ่งบอร์ดเองก็ทำได้เพียง 3 เรื่องเท่านั้น ผมจึงเสนอให้มีการพิจารณาและเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด ให้เกิดความชัดเจน เพราะตอนนี้เราเหลือเวลาเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น”
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้เร่งดำเนินการ เพื่อให้การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ ซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และ อาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 เป็นไปอย่างราบรื่น และ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป