รัฐสภา 16 พ.ย. – สนช. ฉลุยผ่านร่างกฎมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ขณะที่ รัฐบาลขอบคุณ เพราะจะช่วงอุดช่องโหว่ภาษีเดิม โครงสร้างระบบภาษีสอดคล้องกับสากล
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (16 พ.ย.) ลงมติเป็นรายมาตรา ในร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณา หลังเมื่อวานนี้ (15 พ.ย.) ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง พิจารณารายมาตรา ในวาระ 2 โดยเนื้อหายังคงประเภทที่ดินที่ต้องเสียภาษีไว้ 4 รายการ แต่ลดอัตราการเสียภาษีลง ได้แก่ ที่ดินเพื่อการเกษตร ที่ดินที่อยู่อาศัย ที่ดินเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม และ ที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดยกำหนดอัตราไว้อย่างชัดเจน และสามารถนำเงินภาษีดังกล่าว ไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นได้โดยตรง ไม่ต้องนำเงินส่งคลัง มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ วันที่ 1 มกราคม ปี 2563
ทั้งนี้ จากการลงมติรายมาตรา ไม่มีการแก้ไขจากร่างเดิมของกรรมาธิการ และเมื่อลงมติรายมาตราในวาระ 2 เสร็จสิ้น ต่อด้วยการลงมติ วาระ 3 ด้วยคะแนน 169 เสียง งดออกเสียง 2 เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายต่อไป
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขอบคุณสมาชิกที่ผ่านความเห็นชอบ และย้ำว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ และโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินจะสอดคล้องกับสากล สามารถอุดช่องว่างช่องโหว่ภาษีเดิม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของที่ดิน และท้องถิ่นมีเงินไปใช้พัฒนาพื้นที่ และ สร้างธรรมาภิบาลการมีส่วนร่วมในพื้นที่
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังคงแบ่งประเภทที่ดินเป็น 4 ประเภท คือ ที่ดินเพื่อการเกษตร หากมีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 1 ล้านบาท ต่อ 100 บาท ยกเว้น 3 ปีแรกไม่ต้องเสียภาษี แต่ นิติบุคคลรายใหญ่ เริ่มจัดเก็บทันที และ ที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี ส่วน ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี มูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 1 ล้านบาทต่อ 200 บาท โดยบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป ทุก ๆ 1ล้านบาท เสียภาษี 200 บาท ห้องเช่า / บ้านเช่า เจ้าของที่ดินเป็นผู้รับผิดชอบ / ตามสัญญาที่ตกลง ด้านที่ดินเพื่อการพาณิชย์-อุตสาหกรรม จัดเก็บอัตราขั้นบันได สูงสุดไม่เกิน 0.7 % ของราคาประเมิน แต่โรงพยาบาล ,สนามกีฬา ,สนามกอล์ฟ ,สถานศึกษาเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 90% ของราคาประเมิน และที่ดินรกร้าง ว่างเปล่า เก็บในอัตราตั้งแต่ 0.3 – 3% ของราคาประเมิน และทุก 3 ปี ต้องเสียเพิ่ม 0.2 – 0.3 % ต่อเนื่อง ไม่เกิน 27 ปี หรือจนกว่าจะมีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ..- สำนักข่าวไทย