ไทยชูแผนแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในเวทีระดับโลก

กรุงเทพฯ 28 ต.ค. – รมว.เกษตรฯ ชูแผนแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในเวทีระดับโลก ตั้งเป้าลดผู้ป่วยจากเชื้อดื้อยาร้อยละ 50 ภายในปี 64


นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันที่ 29 ตุลาคมนี้จะเข้าร่วมประชุมระดับโลกด้านการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในสัตว์ ครั้งที่ 2 ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (โอไออี) เมืองมาราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโก ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรจากอีกกว่า 10 ประเทศทั่วโลก เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น นอร์เวย์ แคนาดา สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาร์เจนติน่า เข้าร่วมแบ่งปันข้อมูลและรับทราบการแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพของชาติต่าง ๆ โดยจะอภิปรายหัวข้อ “การดำเนินการตามแผนการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ” ซึ่งไทยปฎิบัติตามแผนขององค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) 

นายกฤษฎา กล่าวว่า ไทยดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ปฏิบัติการเพื่อจัดการปัญหาการดื้อยาตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งให้ความสำคัญต่อสุขภาพที่ดีของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559  ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงาน โดยมีเป้าหมายให้ปี 2564 ภาวะการป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 การใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ร้อยละ 20 และในสัตว์ลดลงร้อยละ 30 ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 อีกทั้งประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล  


นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบยุทธศาสตร์  “การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง” เช่น การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเชื้อดื้อยาของประเทศแบบบูรณาการ เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพทั้งยาสำหรับมนุษย์และสัตว์ กำหนดให้มีการใช้ยาต้านจุลชีพตามใบสั่งสัตวแพทย์ และลดการใช้ยาต้านจุลชีพในฟาร์มปศุสัตว์และประมง ทั้งนี้ ไทยดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ของ OIE ซึ่งสอดคล้องกับแผนดำเนินการระดับโลกตามความร่วมมือกับ WHO และ FAO ทั้งนี้ การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของไทยที่ทำอย่างมียุทธศาสตร์ชัดเจนสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องใช้ระยะเวลาและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประเทศไทยมั่นใจว่าแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อนได้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับเชิญร่วมประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกว่า 10 ประเทศ อธิบดีกรมปศุสัตว์ในฐานะ OIE delegate และ OIE focal point for Veterinary Products จากประเทศสมาชิก 182 ประเทศ รวมถึงผู้กำหนดนโยบายองค์กรระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ และแหล่งทุน ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอการดำเนินการการจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นและการสนับสนุนการดำเนินการของโอไออี 

โอไออีในฐานะผู้นำด้านสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ได้แก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพผ่านการกำหนดมาตรฐานสำหรับการเสริมสร้างขีดความสามารถการทำงานของสัตวแพทย์ ผู้ผลิตสัตว์ และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ  โดยมียุทธศาสตร์ในการจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 4 ข้อที่สะท้อนหลักการของ Global action Plan on  AMR คือ เพิ่มความตระหนักรู้และความเข้าใจ สร้างความเข้มแข็งของการเฝ้าระวังและการวิจัย สนับสนุนธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการและการเสริมสร้างศักยภาพ และสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรฐานสากล เนื่องจากปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพโลกที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งต่อประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากหากมีการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์อย่างเหมาะสม จะทำให้ไม่ตกค้างในเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นห่วงโซ่กันไป เมื่อเจ็บป่วยจากเชื้อแบคทีเรียจึงสามารถหายารักษาได้ง่าย ดังนั้น จึงมีข้อเรียกร้องจากเวทีโลกขอให้ทุกประเทศเร่งพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ระดับประเทศเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว โดยโอไออีได้จัดประชุมระดับโลกด้านการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในสัตว์ครั้งแรกเดือนมีนาคม 2556 เน้นการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์อย่างรับผิดชอบและรอบคอบ มีข้อเสนอแนะจากการประชุมให้มีการเสริมสมรรถนะให้กับประเทศสมาชิกผ่านระบบการประเมินสมรรถนะของสัตวแพทย์บริการ  (OIE PVS) การร่วมมือกับ WHO และ FAO และการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ ต่อมาการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 68 (WHA) ได้รับรองแผนดำเนินการระดับโลกเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพและมีมติให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศเร่งจัดทำแผนดำเนินการระดับประเทศ เพื่อจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพให้เสร็จภายใน 2 ปี จะครบกำหนดเดือนพฤษภาคม ซึ่งไทยจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2464 โดยองค์การอนามัยโลกรายงานว่าปัจจุบันมีเพียง 67 ประเทศจาก 194 ประเทศที่มีแผนยุทธศาสตร์เชื้อดื้อยาระดับชาติ


ทั้งนี้ ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 71 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา วันที่ 21 กันยายน 2559 ประเทศไทยในฐานะประธานของกลุ่มประเทศ G77 ประกอบด้วย ประเทศกำลังพัฒนา 134 ประเทศนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) แสดงความมุ่งมั่นทางนโยบายและทางการเมืองของประเทศไทยและกลุ่มประเทศ G77 ในการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาและความร่วมมือจากทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วน รวมทั้งเห็นชอบต่อถ้อยแถลงทางการเมืองร่วมกับผู้นำของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในเรื่องกำจัดเชื้อดื้อยา.-สำนักข่าวไทย 

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

อุณหภูมิลดอีก 1-3 องศาฯ “อีสาน-เหนือ” อากาศเย็นถึงหนาว

กรมอุตุฯ รายงานไทยตอนบน อุณหภูมิลดลงอีก 1-3 องศาฯ กับมีลมแรง อีสานและเหนือ อากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน อากาศเย็น ภาคใต้ฝนเพิ่ม ตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

เกาะติดทุกโหมดการเดินทางเทศกาลปีใหม่ 2568

เกาะติดทุกโหมดการเดินทางขาออกเทศกาลปีใหม่ 2568 ถนนทุกสาย และระบบขนส่งสาธารณะทุกโหมด มีประชาชนทะลักเดินทางตั้งแต่เย็นวานนี้ (27 ธ.ค.) ภาพรวมเป็นอย่างไร พูดคุยกับนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม.