อย.5 ก.พ.-เลขาฯ อย.ย้ำอย่าหลงเชื่อโฆษณาขายยาต้านไวรัสทางเว็บเพจ อ้างช่วยรักษาไวรัสโคโรนา เพราะการใช้ยาดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ การซื้อมาใช้เองอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ที่สำคัญกฎหมายไม่อนุญาตให้จำหน่ายยาผ่านทางอินเทอร์เน็ต เสี่ยงได้รับยาไม่มีคุณภาพหรือยาปลอม
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (เลขาธิการ อย.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวการโฆษณาจำหน่ายยาต้านไวรัสโลปินาเวียร์ ริโทรนาเวียร์ และโอเซลทามิเวียร์ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยอ้างว่าสามารถใช้รักษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาซื้อยาจากอินเทอร์เน็ตมากินเอง เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในขณะนี้ เป็นการรักษาโดยอ้างอิงหลักการทางเภสัชวิทยาของการออกฤทธิ์ของยา
ซึ่งยาโลปินาเวียร์และริโทรนาเวียร์ มีข้อบ่งใช้สำหรับต้านไวรัส HIV โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารพันธุกรรมของไวรัส ส่งผลให้เชื้อไวรัสลดจำนวนลง ส่วนยาโอเซลทามิเวียร์ มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น การใช้ยาจึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด การซื้อยาต้านไวรัสมากินเองเป็นพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกรณีที่มีความเข้าใจผิด ซื้อมาใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เพราะนอกจากไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้แล้ว อาจก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา ซึ่งต่อไปในอนาคตหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยใด ๆ ก็ตาม อาจทำให้ใช้ยาดังกล่าวไม่ได้ผล
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ยาไม่ใช่สินค้าทั่วไป ไม่อนุญาตให้มีการขายยาผ่านทางอินเทอร์เน็ต การขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งวัตถุประสงค์ของ การขายยาในสถานประกอบการที่ได้รับการอนุญาตเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยจึงต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำร้านในการซักถามประวัติ การแพ้ยา จากคนไข้ ยาถือว่ามีทั้งคุณและโทษไม่ควรซื้อยาออนไลน์หรือทางเว็บไซต์ต่างๆ เพราะจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นยาจริงหรือ ยาปลอมได้มาตรฐานหรือมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงไร หรืออาจได้รับผลข้างเคียงจากยาจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
เลขาธิการ อย.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนตำรับยาโลปินาเวียร์ผสมกับริโทรนาเวียร์ จำนวน 4 ทะเบียน ตำรับยาริโทรนาเวียร์เดี่ยว 1 ทะเบียน ตำรับยาโอเซลทามิเวียร์ จำนวน 12 ทะเบียน ซึ่งจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องมีใบสั่งแพทย์ให้จำหน่ายได้ หากพบการจำหน่ายโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ ผู้จำหน่ายจะมีความผิดตามกฎหมาย
โดยสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือร้องเรียนผ่าน
Oryor Smart Application .-สำนักข่าวไทย