กทม.25 ต.ค.- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะ อย.ควรปรับฐานข้อมูลการขออนุญาตโฆษณาเครื่องสำอางให้ประชาชนเข้าถึงง่าย แก้ปัญหาอวดอ้างสรรพคุณ
นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเสวนาวิชาการ เรื่องผิดที่ไว้ใจ :ทางออกเพื่อการควบคุมโฆษณาเครื่องสำอาง เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ และข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการควบคุม หลังพบ ปัจจุบันมีการโฆษณา อวดอ้างสรรพคุณ ของเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายจำนวนมาก
น.ส.สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวในเวทีการเสวนาว่า ปัจจุบันเราพบเห็นสินค้าเครื่องสำอางโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณในโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมามีผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องสำอางผิดกฎหมายจำนวนมาก แต่กลับพบมีการร้องเรียนน้อยมากเพราะลักษณะนิสัยของคนไทยมักจะเก็บเงียบ ยอมความ อย่างมากแค่อินบ็อค ส่งข้อความมาถามว่าสินค้าตัวนี้อันตรายหรือไม่ ประมาณ 10 คนต่อวัน ซึ่งทางมูลนิธิก็แนะนำให้ตรวจสอบเบื้องต้น คือการตรวจสอบเลข อย.ว่าตรงกับชื่อสินค้านั้นหรือไม่ หากไม่ตรงก็ถือว่าผิดกฎหมาย แต่การที่จะดูว่าเครื่องสำอางนั้นมีสารอันตราย สารต้องห้ามปนเปื่อนหรือไม่นั้นก็ว่าเป็นเรื่องยาก ผู้บริโภคต้องส่งตรวจสอบเอง แม้ว่าปัจจุบันผู้บริโภค จะสามารถตรวจสอบเลข อย. ชื่อสถานที่ตั้งผู้ผลิต หรือเลขการขออนุญาตโฆษณาได้ แต่ก็ไม่เพียงพอ ซึ่งทางมูลนิธิฯ มองว่า อย.จึงควรเปิดฐานข้อมูลการขออนุญาตโฆษณาสินค้าทั้งอาหารและยา ให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย เพราะในฐานข้อมูลนี้จะมีรายละเอียดข้อความการโฆษณาที่ทางผู้ประกอบขอกับ อย.หากประชาชนพบข้อความที่โฆษณาในสื่อต่างๆ แล้วเกิดความสงสัยว่าเข้าข่ายโฆษณาเกิดจริงหรือไม่ก็สามารถเข้าตรวจสอบได้ และเป็นหลักฐานสำคัญในการนำไปแจ้งความดำเนินคดีเมื่อได้รับผลกระทบจากเครื่องสำอางที่อวดอ้างสรรพคุณ
ขณะที่นายโสภณ หนูรัตน์ นักวิชาการด้านกฎหมายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า นอกจากข้อมูลเกี่ยวกับการโฆษณาที่ผู้บริโภคเข้าถึงยากแล้ว ตัวกฎหมายเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ก็มีช่องโหว่ เช่น มาตรา 46 ที่ระบุว่า ผู้จดแจ้งหรือผู้ทำการโฆษณาเครื่องสำอาง สงสัยว่าการโฆษณาของตนเองจะเป็นการฝ่าฝืน ไม่เป็นไปตามกฎหมาย อาจขอให้คณะกรรมการให้ความเห็นชอบในเรื่องนั้นและแจ้งให้ผู้ขอทราบก่อนทำการโฆษณา ภายใน 60 วัน หากแจ้งไม่ทันให้ถือว่าคณะกรรมการเห็นชอบ ตรงนี้เป็นช่องว่าง ยกประโยชน์ให้จำเลย ทำให้มีโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณหลุดลอดออกไป เพราะแน่นอนว่าคณะกรรมการไม่สามารถจะตรวจสอบให้ความเห็นชอบได้ทันภายในเวลาแค่ 60 วัน เพราะมีโฆษณาที่ต้องพิจารณาเยอะมากซึ่งกฎหมายควรเปลี่ยนเป็น ห้ามโฆษณาจนกว่าจะพิจารณาเห็นชอบเสร็จ
ขณะที่สำคัญโทษถือว่าน้อยไม่มีการกำหนดโทษขั้นต่ำมีแต่ระบุสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการลงโทษเป็นแบบขั้นบันได กว่าจะถูกลงโทษสูงสุดก็ทำผิดไปแล้วหลายครั้ง จึงเป็นช่องว่างทำให้กฎหมายไม่มีการบังคับใช้ที่มีคุณภาพ การโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง จึงเกิดขึ้นมากมาย.-สำนักข่าวไทย