กรุงเทพฯ 3 ต.ค. – มิลค์บอร์ดเห็นชอบตามข้อเสนออนุฯ นมโรงเรียน เพิ่มตรวจสอบเอกสารซื้อขายน้ำนมดิบ พร้อมเร่งพิจารณาจัดสรรสิทธิ์และพื้นที่จำหน่ายภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อให้ทันภาคเรียนที่ 2/2561
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) เป็นประธานการประชุมพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิ์จำหน่ายนมโรงเรียนภาคเรียนที่ 2/2561 โดยให้ความเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนเสนอว่า น้ำนมดิบจะนำมาผลิตเป็นนมโรงเรียนต้องมีธาตุอาหาร (Total Solid) เช่น โปรตีน ไขมันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 12.25 มีจำนวนเม็ดเลือดขาว (Somatic Cell) ไม่เกิน 500,000 เซลล์ต่อมิลลิลิตร
ส่วนหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิ์การจำหน่ายภาคเรียนที่ 2/2561 ยังคงยึดตามมติ ครม.วันที่ 12 ธันวาคม 2552 ซึ่งจะพิจารณาจากบันทึกข้อตกลง MOU ปริมาณการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรที่จดแจ้งต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ ศักยภาพการผลิต การขนส่งที่มีมาตรฐาน โรงงานต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงประวัติการดำเนินงานที่ผ่านมาหากดำเนินการมาดีตลอดจะได้รับการพิจารณาให้สิทธิ์เพิ่ม แต่หากเคยส่งนมเสียหรือนมคุณภาพต่ำจะถูกลดสิทธิ์การจำหน่าย สำหรับอัตราการลงโทษผู้ประกอบการ หากทำผิดเงื่อนไขกรณีต่าง ๆ มีมติให้ยึดหลัก พ.ร.บ. อาหารและยา หากตามกฎหมายกำหนดโทษไว้แล้วจะไม่ลงโทษซ้ำ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการถูกลงโทษได้ฟ้องศาลปกครอง ซึ่งศาลมีคำสั่งคุ้มครองผู้ร้องชั่วคราว ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯและมิลค์บอร์ด อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การกำหนดหน้าที่ (Job Description) ของกรรมการตรวจรับนมโรงเรียนระดับอำเภอและจังหวัดให้ชัดเจนขึ้น โดยให้ครูอาจารย์ตรวจสอบทั้งจำนวนและคุณภาพของนมโรงเรียนที่ได้รับอย่างละเอียดถี่ถ้วนขึ้น
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารนมโรงเรียน กล่าวว่า การจดแจ้ง MOU รับซื้อน้ำนมดิบต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ขณะนี้มีรวม 3,450 ตันต่อวัน ซึ่งจะใช้ผลิตนมโรงเรียน 1,170 ตันต่อวัน ผลิตนมให้นักเรียน 7,540,000 คนทั่วประเทศ ดื่มวันละ 200 มิลลิลิตรต่อคน ในวันเปิดภาคเรียน 100 วันและวันปิดภาคเรียน 30 วัน ทั้งนี้ มิลค์บอร์ดจะประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิ์วันที่ 8 ตุลาคมนี้ จากนั้นเปิดรับสมัครผู้ประกอบการที่สนใจร่วมโครงการวันที่ 11-17 ตุลาคม จึงพิจารณาจัดสรรสิทธิ์และพื้นที่จำหน่าย โดยจะประกาศผลในช่วงปลายเดือนนี้ เพื่อให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 2
ทั้งนี้ เมื่อปิดรับสมัครจะทราบว่าปริมาณน้ำนมที่ผู้ประกอบการแต่ละรายแจ้งมาเมื่อรวมกันจะเกินกว่าที่กำหนดไว้ที่ 1,170 ตันต่อวันหรือไม่ หากเกินจะพิจารณาสิทธิ์โดยยึดตามข้อกำหนดในมติ ครม.ปี 2552 ประกอบกัน กรมปศุสัตว์ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบจำนวนแม่โคที่ให้นมได้ทั่วประเทศ รวมถึงปริมาณน้ำนมดิบที่ตรวจนับก่อนเข้าโรงแปรรูป มาเปรียบเทียบกับปริมาณ MOU ที่จดแจ้ง หากมีความคลาดเคลื่อนมากกว่าร้อยละ 3 ถือว่ามีความผิดปกติคณะอนุกรรมการบริหารจัดการนมโรงเรียนจะเรียกตรวจสอบเอกสารการซื้อขายน้ำนมดิบ ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน เอกสารการเสียภาษีแก่กรมสรรพากรเพิ่มเติม จากเดิมตรวจสอบการจดแจ้งการทำบันทึกข้อตกลงรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรอย่างเดียว เพื่อป้องกันการจดแจ้ง MOU อันเป็นเท็จต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนมทั้งระบบ เนื่องจากมีการร้องเรียนกันเองว่าผู้ประกอบการบางรายแจ้งปริมาณการรับซื้อน้ำนมดิบมากกว่าที่รับซื้อจริงแต่ละวัน หวังจะได้รับการจัดสรรสิทธิ์จำหน่ายนมโรงเรียนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากตรวจสอบได้ว่าจดแจ้ง MOU อันเป็นเท็จจะไม่ได้รับการพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการ.-สำนักข่าวไทย