ก.คลัง 1 ต.ค. – คลังโบ้ยกระทรวงสาธารณสุขเสนอปรับราคาบุหรี่ ดึงเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพ เห็นด้วยแนวคิดนำรายได้บุหรี่ส่งกองทุนประกันสุขภาพ สรรพสามิตยอมรับอาจต้องเสนอคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังพิจาณาก่อนเสนอ ครม.
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระแสข่าวการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยงานบริการภาครัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ในการจัดเก็บเงินจากบุหรี่อีกซองละ 2 บาท และนำส่งเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 3,000 ล้านบาทต่อปี
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่เห็นเรื่องการเสนอปรับเพิ่มราคายาสูบดังกล่าว เพราะคลังไม่ใช่ต้นเรื่องในการเสนอปรับราคา แต่เป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่าแนวคิดการนำรายได้จากบุหรี่ เพื่อนำเข้ากองทุนบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นแนวคิดนำเงินมาดูแลรักษาสุขภาพ เมื่อยังขาดแคลนเงิน จึงต้องหาแหล่งเงินเข้ามารองรับในการรักษาพยาบาลเพิ่ม โดยคลังต้องดูว่าเข้าหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังหรือไม่ ในการดึงเงินไปใช้ในกองทุนหลักประกันสุขภาพ
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตยังไม่เห็นร่างกฎหมายข้อเสนอจัดเก็บดังกล่าวมีแต่เพียงกระแสข่าวการปรับเพิ่มราคาบุหรี่ 2 บาทต่อซอง มองว่าการจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ถือเป็นกองทุนหมุนเวียนประเภทหนึ่ง การเก็บเงินสมทบดังกล่าวอาจเข้าข่าย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ จึงต้องเสนอคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังพิจารณา ตามมาตรา 25 ระบุว่า การเสนอกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานรัฐไม่ต้องนำส่งรายได้เข้าคลังให้ดำเนินการได้ในกรณีจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานรัฐ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังก่อนเสนอกฎหมายต่อ ครม. ส่วนมาตร 26 ระบุว่า การเสนอกฎหมายเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมเพิ่ม กระทำมิได้เว้นแต่จะเก็บเข้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนนำเสนอที่ประชุม ครม.
แม้ว่าแนวคิดการนำเงินจากบุหรี่ไปใช้ประโยชน์ทางการรักษาสุขภาพจะโต้แย้งได้ยาก สำหรับการพิจารณาเรื่องจัดเก็บภาษียาสูบร้อยละ 40 ก่อนปี 2562 ขอเวลาศึกษาทบทวนให้รอบคอบ เพราะกระทบทั้งเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ผู้บริโภค จากนั้นค่อยนำมาพิจารณา ตามข้อเสนอของภาคเกษตรผู้ปลูกยาสูบที่ต้องการให้เลื่อนการขึ้นภาษีบุหรี่ตามมูลค่าร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 40 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ออกไปก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากกฎหมายภาษีสรรพสามิตใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 มีการเก็บภาษีบุหรี่ตามปริมาณ 1.20 บาทต่อมวน และตามมูลค่ารร้อยละ 20 สำหรับบุหรี่ราคาไม่เกิน 60 บาท และร้อยละ 40 สำหรับบุหรี่ราคาเกิน 60 บาท และเมื่อถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ต้องปรับภาษีตามมูลค่า เพิ่มเป็นร้อยละ 40 เท่ากัน เพื่อทำให้บุหรี่ราคา 60 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 80 บาท และบุหรี่ที่ปัจจุบัน 100 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 160 บาท และช่วงที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขเปิดเวทีประชาพิจารณ์ เพื่อเก็บเงินสมทบจากสินค้าบุหรี่เพิ่ม 2 บาท เพียงรายการเดียว โดยไม่รวมสินค้าสุรา เบียร์ และยาเส้น เหมือนกับการนำส่งเงินเข้ากองทุนอื่น เงินที่สนับสนุนจากงบประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อปี ยังไม่เพียงพอต่อกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงต้องหาแหล่งเงินเพิ่ม
นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้ว่าการ การยาสูบแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หาก ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอปรับเพิ่มราคาบุหรี่ 2 บาทต่อซอง ยสท.ต้องผลักภาระให้ผู้บริโภค หากมีการเก็บเงินให้กองทุนหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากปัจจุบันตามโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ทำให้ยาสูบมีกำไรจากการขายบุหรี่ที่ซองละ 10 สตางค์เท่านั้น ถ้าไม่ปรับราคาขึ้น โรงงานยาสูบก็จะขาดทุน และขายบุหรี่ไม่ได้ ที่ผ่านมา ยสท.มีกำไรในปี 60 ประมาณ 9,000 ล้านบาท คาดลดลงเหเหลือไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ในปี 61 โดยช่วงที่ผ่านมาการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เริ่มจัดเก็บอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ตั้งแต่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้ยอดขายลดจากร้อยละ 80 เหลือร้อยละ 60 จากเดิมกำไรซองละ 7 บาท เหลือกำไรซองละไม่ถึง 1 บาท และหากปรับเพิ่มขึ้นอีกซองละ 2 บาท อาจกระทบทำให้ขาดทุนมากขึ้น .-สำนักข่าวไทย