กรุงเทพฯ 1 ต.ค. – รมว.เกษตรฯ มอบนโยบายกรมวิชาการเกษตร ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ยกระดับไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ระดับภูมิภาค
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานวันสถาปนาครบ 46 ปีกรมวิชาการเกษตร โดยกล่าวแก่ผู้บริหารและข้าราชการว่า ปีงบประมาณใหม่นี้กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งรัดโครงการเกษตรอินทรีย์ โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลและขยายผลเป็นอย่างรูปธรรมตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560 – 2564 ของรัฐบาลที่ว่า “ประเทศไทยจะเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้า และการบริการเกษตรอินทรีย์ ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” ซึ่งจะต้องศึกษาวิจัยสร้างองค์ความรู้ จัดทำฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ของประเทศ รวมถึงการกำหนดพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชแต่ละชนิด (Zoning by Agri-map) ตลอดจนบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทุกรูปแบบ
ทั้งนี้ ได้มอบหมายนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาและเผยแพร่วิถีการทำเกษตรยั่งยืน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเขียนแผนดำเนินงาน จากนั้นจะมีการเผยแพร่และส่งเสริมการทำการเกษตรโดยลด ละ เลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและกำจัดศัตรูพืชให้แก่เกษตรกร ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือนักวิชาการ ภาคประชาสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้สารเคมีทำการเกษตรช่วยรณรงค์และให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อให้มีทางเลือกในการทำเกษตรแบบยั่งยืนโดยสามารถลดต้นทุนในการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช รวมทั้งตระหนักถึงความปลอดภัยทั้งของเกษตรกรและผู้บริโภค
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้กำชับกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายให้ควบคุมเกษตรกรให้ใช้สารเคมีตามความจำเป็นและถูกต้องตามหลัก GAP อีกทั้งต้องไม่ให้มีสารเคมีตกค้างในผลผลิตทางการเกษตรเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนด ล่าสุดผลของโครงการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักและผลไม้สดของไทย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเก็บตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปีนี้ พบว่ามีสารตกค้างเกินมาตรฐานร้อยละ 11 ต่อมาได้มีผู้แสดงความเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียถึงผลตรวจวิเคราะห์ว่าไม่น่าเชื่อถือนั้น นายกฤษฎา จึงได้ชี้แจงย้ำว่า โครงการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักและผลไม้ร่วมมือกันดำเนินการ 4 หน่วยงาน คือ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเก็บตัวอย่างผักและผลไม้สดจากทั่วประเทศครอบคลุมตั้งแต่แปลงเกษตรกร โรงคัดบรรจุผักผลไม้สด ห้างค้าปลีก ตลาดค้าส่งค้าปลีก และครัวของโรงพยาบาลรัฐ ผลการตรวจวิเคราะห์ผักและผลไม้รวม 7,054 ตัวอย่าง พบว่า 6,264 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 79 อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ส่วนที่พบสารพิษตกค้างระดับเกินมาตรฐานมี 790 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 11 และจาก 790 ตัวอย่าง มี 10 ตัวอย่าง ที่พบสารเคมีในระดับสูงเกินระดับที่ปลอดภัย หรือคิดเป็นร้อยละ 0.14 ของจำนวนตัวอย่างที่ตรวจวิเคราะห์ทั้งหมด จากนั้น
ได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับไปถึงแหล่งผลิตระดับแปลงเกษตรกรหรือโรงคัดบรรจุ เพื่อตักเตือนให้คำแนะนำให้ใช้สารเคมีให้ถูกต้อง รวมทั้งสั่งให้มีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งหากแก้ไขไม่ได้ จะดำเนินการอย่างเฉียบขาดทั้งถอนใบรับรองที่เกษตรกรได้รับหรือใบอนุญาตของโรงคัดบรรจุ รวมทั้งการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป สำหรับการดำเนินงานขั้นต่อไปจะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขพัฒนาและยกระดับโรงคัดบรรจุ ให้มีมาตรฐาน อีกทั้งในส่วนของตลาดสดจะพัฒนาให้ถูกอนามัยและปลอดภัย ลดสัดส่วนผักและผลไม้สดที่มีสารเคมีตกค้างให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ.-สำนักข่าวไทย