รร.เซ็นทรัลเวิลด์ 15 ก.ย. – ผู้ว่าฯ ธปท.มองผลงานรัฐบาลในรอบ 2 ปี ชัดเจนเรื่องการลงทุนโครงภาครัฐ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพัฒนาศักยภาพประเทศ พร้อมระบุยังติดตามการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 และ 4 แม้จีดีพีปีนี้จะโตเพิ่มเป็นร้อยละ 3.2
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังการเปิดการสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2559 เรื่อง ” มิติใหม่ของนโยบายเศรษฐกิจในยุคแห่งข้อมูลถึงผลงานของรัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสแถลงผลงานครบรอบ 2 ปี ของรัฐบาล ว่า ช่วงที่ผ่านมานโยบายการคลังมีบทบาทต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2558 รัฐบาลลงทุนในโครงการภาครัฐซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและรัฐบาลได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง แต่มาตรการและการลงทุนดังกล่าวยังไม่เกิดผลทันทีต่อภาวะเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังค่อย ๆ ฟื้นตัวท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ และในประเทศ แต่การลงทุนของภาครัฐถือเป็นการสร้างฐานให้เกิดการจูงใจ และมีการลงทุนจากภาคเอกชนตามมา เห็นได้จากตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมใหม่ หรือ S-CURVE เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตสินค้าของไทย และ เพิ่มศักยภาพของประเทศระยะยาว
ส่วนกรณีที่รัฐบาลควรจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มหรือไม่ นายวิรไท กล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้น นโยบายการคลังเป็นกลไกทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การใช้มาตรการกระตุ้นการบริโภคได้ผลแค่ระยะสั้น ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการลงทุน ทั้งการวางโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการลงทุนภาคเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขัน
“มองว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เท่ากับความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างศักยภาพของประเทศ ” นายวิรไท กล่าว
ส่วนการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นเติบโตร้อยละ 3.2 จากเดิมคาดว่าโตร้อยละ 3.1 นั้น เป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 2 ที่ดีขึ้นกว่าคาด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากมาตรการชั่วคราว ดังนั้น ยังต้องติดตามต่อเนื่องว่าการบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ยังจะดีต่อเนื่องหรือไม่ รวมทั้งติดตามคุณภาพหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงินในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และพาณิชยกรรมในภูมิภาค ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและภัยแล้ง โดย ธปท.ได้หารือกับธนาคารพาณิชย์ต่อเนื่องเพื่อให้ดูแลทั้งคุณภาพสินเชื่อและ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้
นายวิรไท กล่าวว่า สัปดาห์หน้า ธปท.จะเชิญคัสโตเดียนที่ดูแลนักลงทุนถือตราสารหนี้มาทำความเข้าใจ ในการรายงานข้อมูลการถือตราสารหนี้ว่านักลงทุนเป็นผู้ถือตราสารประเภทใด เช่น สถาบันการเงิน นักลงทุนผู้มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ หรือ NR รวมทั้งประเภทพันธบัตรที่ถือและ อายุพันธบัตร เพื่อ ธปท.จะได้มีข้อมูลในการประเมินการลงทุนในตลาดพันธบัตร และการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่าง ๆ เพื่อนำไปพิจารณาดำเนินนโยบายที่เหมาะสมในอนาคต
ส่วนกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ให้เงินหยวนเป็นส่วนหนึ่งในตะกร้าเงิน ( SDR) ว่า ธปท.เตรียมพร้อมมานานแล้ว โดยเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินหยวน และให้การสนับสนุนการค้าระหว่างไทย – จีน โดยการใช้เงินสกุลหยวนมากขึ้น เพราะมีความผันผวนน้อยกว่าเงินสกุลหลัก ดังนั้นขอให้ผู้ส่งออกและนำเข้าใช้เงินหยวนและเงินสกุลภูมิภาคในการทำการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น .- สำนักข่าวไทย