สำนักข่าวไทย 14 ก.ย.- กรมอุตุฯ เตือนรับมือพายุมังคุด ส่งผลกระทบทั่วไทย ทำฝนตกเพิ่มตั้งเเต่วันที่ 16-20 ก.ย. นี้ ภาคเหนือ-อีสานอ่วม เสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ภาคใต้มีคลื่นสูง ส่วนพายุบารีจัตอ่อนกำลังลงเเล้ว
นายภูเวียง ประคำมินทร์ รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า วันนี้ (14ก.ย.)กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเรื่องพายุไต้ฝุ่นมังคุด บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกหรือด้านตะวันออกของประเทศฟิลิบปินส์ มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด15.6 องศาเหนือ ลองจิจูด 127.5 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 204 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์และจะเคลื่อนลงทะเลจีนใต้ตอนบน ในช่วงวันที่14-15 กันยายนนี้
หลังจากนั้นจะผ่านเกาะไหหลำประเทศจีนเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงวันที่ 16-18 กันยายน 2561 ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้บริเวณพื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ / โดยบริเวณภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือเเละภาคใต้ จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักเกิดขึ้นได้ในช่วงวันที่ 17-19 กันยายนนี้ จึงขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่ม
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ในช่วงวันที่ 16-19 กันยายน 2561จะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-4 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง และขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งให้ระมัดระวังคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งในบริเวณดังกล่าว ขณะเดียวกันในช่วงวันที่ 20 กันยายน ชาวกรุงเทพมหานครเเละบางจังหวัดในภาคกลาง ก็ยังคงได้รับอิทธิพลของพายุอยู่ ซึ่งอาจจะมีฝนตกในบางพื้นที่
นายภูเวียง กล่าวต่อว่า แนวโน้มพายุจะไม่กระทบไทยโดยตรง แต่จะส่งผลทางอ้อมดึงให้ร่องมรสุมสูงขึ้น ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงน้ำป่าไหลหลาก เเละดินโคลนถล่มเนื่องจากดินอุ้มน้ำไม่ไหวจากปริมาณฝนที่ตกลงมาก่อนหน้านี้เเล้ว 2 เดือน โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดริมแม่น้ำโขงที่เคยเจอน้ำล้นตลิ่ง เช่น นครพนม บึงกาฬ อาจจะมีน้ำท่วมริมตลิ่ง เพราะฝนจะตกในประเทศลาวเพิ่มมากขึ้นส่งผลต้องระบายน้ำลงแม่น้ำโขง ขณะเดียวกันอาจทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกรุมอุตุฯได้ส่งข้อมูลให้กับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)รวมถึงกรมชลประทาน กรมป้องกันเเละบรรเทาสาธารณภัย เพื่อจัดการน้ำในพื้นที่เสี่ยงริมแม่น้ำโขง เเละเเจ้งเตือนประชาชนเพื่อเตรียมรับมือกับปริมาณฝนที่เพิ่มมากขึ้น
ส่วนพายุบารีจัต(BARIJAT) ที่จะเคลื่อนผ่านเกาะฮ่องกงและเกาะไหหลำ ประเทศจีน ในช่วงวันที่ 13-14 กันยายน ขณะนี้ถือว่าอ่อนตัวลงเเล้ว ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ฝนจะน้อยลงเเละคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลงจนถึงวันพรุ่งนี้ ซึ่งถือเป็นช่วงรอยต่อระหว่างพายุบารีจัตเเละพายุมังคุด ที่จะได้รับผลกระทบหนักอีกครั้งตั้งเเต่วันที่ 16-20 กันยายนนี้
ขณะเดียวกันหลังหมดพายุมังคุด ประเทศไทยก็ยังไม่เผชิญกับอากาศหนาว ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมาในช่วงกลางเดือนตุลาคม ที่จะทำให้บริเวณตอนบนของประเทศมีอากาศเย็นลง ส่วนบริเวณตอนล่างหรือภาคใต้ ยิ่งเฉพาะฝั่งอ่าวไทย จะถือเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูฝน .-สำนักข่าวไทย