กรุงเทพ ฯ 14 ก.ย. – 4 องค์กรจับมือตั้ง “ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล” เน้นสร้างเสถียรภาพโครงข่ายให้แข็งแกร่ง ระบุระยะยาวจะเสนอให้ กสทช.จัดให้มี National Mux service center รวมโครงข่ายฯ ทั้งหมด เพื่อนำไปสู่บริหารจัดการหรือจัดตั้งเป็นโครงข่ายฯต่อไป
4 หน่วยงานใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก กรมประชาสัมพันธ์ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยและบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ผสานความร่วมมือจัดตั้ง “ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ชคท.)” เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ และความร่วมมือด้านเทคนิคในการพัฒนาโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัลเปรียบได้กับผู้สร้างถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ให้สถานีโทรทัศน์ระบบดิจิทัลทุกสถานีใช้บริการนำรายการไปส่งสู่ประชาชนทั่วประเทศได้รับชม โดยข้อเท็จจริงทำงานหนักไม่น้อยกว่าผู้ให้บริการช่องโทรทัศน์ฯ ปัจจุบันสัญญาสัมปทานโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่เริ่มตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปีนี้ครบ 5 ปีแรกของสัญญาใบอนุญาตแล้ว แต่เม็ดเงินในตลาดติดลบลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยหลังมีข่าวว่าจะมีการเลือกตั้งปีหน้า ซึ่งขณะนี้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัลอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมให้บริการอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถรับชมโทรทัศน์จอไม่ดับ การตั้งชมรมฯขึ้นมาก็เพื่อจะประสานความร่วมมือทำงานร่วมกันด้านต่าง ๆ ต่อไป
พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่สมาคมจะดำเนินการ คือ การแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเทคนิคและพัฒนาคุณภาพการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอลให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะกำหนดแนวทางและการบริหารจัดการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แนวทางระยะสั้น ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จะร่วมกันพิจารณาและหาแนวทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เช่น แนวทางการบริหารต้นทุนร่วมกัน ,การกำหนดมาตรฐานของราคาค่าบริการ , การกำกับดูแลกันเอง การเจรจาและให้คำปรึกษากับผู้เช่าใช้บริการโครงข่ายฯ แนวทางในระยะกลาง เป็นแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน 3 ฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการโครงข่ายฯ , กสทช, และรัฐบาล เพื่อการแก้ปัญหาผลกระทบของทรัพย์สินรัฐที่รับภาระแทน กสทช ฯ เช่น โครงการแก้ปัญหาและเยียวยาจำนวนช่องรายการที่ว่างอยู่ในโครงข่าย ซึ่งเกิดขึ้นตามแผนแม่บทและข้อบังคับของ กสทช.
ส่วนแนวทางระยะยาว เป็นการเสนอแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบต่อผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จากสถานการณ์และแนวโน้มธุรกิจสื่อโทรทัศน์ในปัจจุบันต่อรัฐบาล หรือ กสทช.และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น การเสนอให้ กสทช.ดำเนินการ National Mux service center ในการรวมโครงข่ายฯ ทั้งหมด เพื่อนำไปสู่บริหารจัดการหรือจัดตั้งเป็นโครงข่ายฯ การให้บริการแห่งชาติเพื่อให้ได้มาตรฐานระดับสากลต่อไป อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ นั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อสู้กับผู้ให้บริการช่องรายการ แต่เพื่อสร้างความเข้มแข็ง แข็งแรงของการบริการให้บริการโครงข่ายฯ และเพื่อให้บริการที่มีคุณภาพเกิดความผิดพลาดในการออกอากาศน้อยที่สุด ซึ่งท้ายที่สุดประโยชน์ก็จะครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการช่องรายการ ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ทั้ง 4 หน่วยงาน และประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและเต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพและเสียงอย่างไร้ขีดจำกัด.-สำนักข่าวไทย