กกต. 16 ก.ย.- กกต.พร้อมส่งร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ให้ กรธ.วันนี้ แต่ไม่มีเรื่อง “ใบดำ” ยอมรับไม่มีมาตรฐานความผิดชัดเจน ขอหารือกับ กรธ.อีกครั้ง
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ผู้ทรงคุณวุฒิ กกต. แถลงว่า กกต.จะส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ภายในวันนี้ (16 ก.ย.) โดยมีเนื้อหา คือ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งได้เอง เพิ่มค่าการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต เพิ่มช่องทางรับสมัครทางอินเตอร์เน็ต ควบคู่กันกับวิธีปกติ ผู้สมัครต้องติดป้ายตามขนาดและในพื้นที่ที่ กกต.กำหนดเท่านั้น พรรคการเมืองที่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ต้องดีเบตนโยบายต่อสาธารณะ
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ส่วนการคำนวณ ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม จะยึดตามรัฐธรรมนูญกำหนด ที่จะมีปัญหา คือในส่วนของการปรับสัดส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้อยู่ในกรอบ 150 คน ตามเจตนารมณ์ของ กรธ.ใช้วิธีการเทียบบัญญัติไตรยางศ์ อย่างไรก็ตาม จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อาจมีการเปลี่ยนแปลง กรณี กกต.ยังไม่ประกาศผลในส่วนร้อยละ 5 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด ภายใน 1 ปี ซึ่งหากมาคำนวณในภายหลัง อาจทำให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส.แบบัญชีรายชื่อไปแล้ว และอยู่ในลำดับท้ายๆ ต้องหลุดออกจากตำแหน่ง แต่ถ้าพ้นระยะเวลา 1 ปี ไปแล้วจะไม่มีการคำนวณแต่อย่างใด
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการกรณีการเลือกตั้งไม่สุจริต ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง กกต. สามารถสั่งระงับสิทธิรับสมัคร หรือ ใบส้ม ได้ เป็นเวลา 1 ปี โดยมติ กกต. ถือเป็นที่สุด พร้อมกับสั่งเลือกตั้งใหม่ได้ หลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง กกต. สามารถเสนอให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือ ใบแดง มีระยะเวลา 5-10 ปี แล้วแต่ความผิด
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ส่วนกรณีเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือ ใบดำ มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และเห็นว่า ควรจะมีบัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว แต่เนื่องจากกกต.เห็นว่า ยังมีความไม่ชัดเจน ว่า กรธ.มีเจตนาที่จะให้หมายถึงความผิดลักษณะใดบ้าง จึงยังไม่มีการกำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ใน ร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่จะมีข้อสังเกต และไปหารือกับ กรธ.ในวันที่ 19 กันยายนนี้
“เดิมคณะทำงานคิดว่าจะเอาโทษตามมาตรา 53 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. 2554 ไปใส่ไว้เป็นลักษณะความผิดที่จะเข้าข่ายใบดำ แต่ยังไม่ชัดเจน เพราะการจำแนกโทษระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กับการเพิกถอนสิทธิรับสมัครนั้น เป็นไปได้ยาก อีกทั้ง อำนาจในการ่างกฎหมายลูกเป็นของ กรธ. จึงอยากหารือ เพื่อหาความชัดเจนก่อน และให้ กรธ.เป็นผู้กำหนดลักษณะความผิด ที่จะเข้าข่ายใบดำไว้ในกฎหมายลูกเอง” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว
พ.ต.อ.จรุงเวิทย์ ยอมรับว่า หากไม่มีการกำหนด ในทางปฏิบัติเมื่อเกิดการทุจริต และกกต.ต้องเสนอต่อศาล เพื่อให้ลงโทษ กกต.ต้องระบุว่า จะให้ศาลลงโทษความผิดใด ระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิรับสมัคร แต่ทั้งหมดไม่ว่าจะโดนโทษใด ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 98 (11) ที่กำหนดว่า “ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าทุจริตเลือกตั้งห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองและกรรมการองค์อิสระตลอดไป” .- สำนักข่าวไทย