กรุงเทพฯ 10 ก.ย. – บอร์ด PPP เดินหน้ามอเตอร์เวย์ สายนครปฐม – ชะอำ วงเงิน 80,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมโรดโชว์ขายหน่วยลงทุนกองทุน TFF ฮ่องกง สิงคโปร์ ย้ำขายให้นักลงทุนรายย่อยประเทศเป็นหลัก
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบในหลักการของโครงการทางหลวงสัมปทานสายนครปฐม – ชะอำ (M8) ของกรมทางหลวง ภายใต้มาตรการ PPP Fast Track มูลค่าเงินลงทุนรวม 80,000 ล้านบาท ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและร่วมลงทุนในกรอบวงเงินไม่เกินค่างานโยธา 55,805 ล้านบาท และภาคเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา ค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ค่าก่อสร้างที่พักริมทาง และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ ตลอดจนรับผิดชอบการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปี นับจากเปิดให้บริการ รองรับแผนแม่บทการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของกรมทางหลวง เพื่อเป็นทางหลวงมาตรฐานสูงสู่พื้นที่ภาคใต้ และช่วยแบ่งเบาปริมาณจราจรบนถนนเพชรเกษมหรือทางหลวงหมายเลข 4 ทำให้การเดินทางของประชาชนมีความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงการเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่พื้นที่ภาคใต้
คณะกรรมการ PPP เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะกรรมการ PPP ได้ภายในปี 2561 (ประมาณเงินลงทุนรวม 366,274 ล้านบาท) รวมถึงยังติดตามโครงการระบบขนส่งมวลชนในหัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการกระจายการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภูมิภาค และบรรเทาปัญหาการจราจรหนาแน่นของหัวเมืองหลัก
นายประภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า เตรียมเดินทางไปโรดโชว์กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ณ ฮองกง สิงคโปร์ ระหว่าง 17-20 กันยายนนี้ เพื่อเสนอรายละเอียดการจำหน่ายหน่วยลงทุนกองทุน TFF วงเงิน 45,000 ล้านบาท เพื่อชักจูงนักลงทุนในภูมิภาคนี้ หวังให้นักลงทุนต่างชาติมีส่วนร่วม โดยยังเน้นขายหน่วยลงทุนรายย่อยในประเทศเป็นหลักมากร้อยละ 60 จากนั้นกันสัดส่วนให้นักลงทุนสถาบันและต่างชาติ เพื่อเปิดจำหน่ายสัปดาห์ที่ 2 เดือนตุลาคม ส่วนผลตอบแทนการลงทุนขณะนี้ยังรอสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณารายละเอียดการลงทุนทั้งหมดในสิ้นเดือนกันยายนี้ แต่นักลงทุนคงคาดการณ์แผนลงทุนได้ ส่วนแผนระดมทุนเฟส 2 ผ่านกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ เตรียมใช้ระดมทุนของกรมทางหลวงในการก่อสร้างเส้นทางอื่นเพิ่มเติม เพราะยกร่างกฎหมายเตรียมเสนอ ครม. พิจารณาเร็ว ๆ นี้ ทั้งการนำส่งรายได้ค่าผ่านทาง แผนระดมทุนเหมือนกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) หลังจากเดือนตุลาคมนี้อธิบดีมกรมทางหลวงคนใหม่น่าจะเสนอแผนลงทุนและการระดมทุนได้ .- สำนักข่าวไทย