กระทรวงการคลัง 30 ส.ค. – บอร์ด PPP เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการร่วมลงทุนรัฐ – เอกชน 5 ปี มูลค่า 1.62 ล้านล้านบาท
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบร่างแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (แผนยุทธศาสตร์ PPP) พ.ศ. 2560 – 2564 ด้วยการนำหลักการสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการจัดแผนยุทธศาสตร์ PPP โดยมีมูลค่าโครงการลงทุนรวม 1.62 ล้านล้านบาท
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ PPP ประกอบด้วย กิจการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ 22 กิจการ สามารถจำแนกเป็น 1.แผนลงทุนที่ต้องการดึงให้เอกชนมีส่วนร่วมลงทุน (Opt – out) ส่วนใหญ่จะเป็นกิจการลงทุนขนาดใหญ่ 4 กิจการ ได้แก่ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง การพัฒนาถนนเก็บค่าผ่านทางในเมือง กิจการพัฒนาท่าเรือสาธารณะสำหรับขนส่งสินค้า และกิจการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง และ 2.กิจการรัฐต้องคัดเลือกให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Opt – in) เพราะหากรัฐบาลลงทุนเองจะมีความเสี่ยง 18 กิจการ เช่น กิจการพัฒนาถนนเก็บค่าผ่านทางระหว่างเมือง กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข และกิจการพัฒนาท่าอากาศยาน เป็นต้น การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน
ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามมาตรการ PPP Fast Track เพิ่ม 6 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก 2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (ส่วนตะวันตก) และช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (ส่วนตะวันออก) 3. โครงการรถไฟฟ้าสายภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง 4.โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ 5.โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ – ระยอง 6.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม – ชะอำ มูลค่าวงเงินลงทุนรวม 598,768 ล้านบาท ที่ประชุมจึงเร่งรัดให้ดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้. – สำนักข่าวไทย