กรุงเทพฯ 9 ก.ย.-ม.รังสิตระบุบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นแนะไม่ควรรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงแนวโน้มเงินบาทว่า มีทิศทางแข็งค่าเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาจเกิดการเก็งกำไรค่าเงินบาท ที่ยิ่งจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก โดยเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ยกเว้นดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรไหลเข้าประเทศไทยในตลาดตราหนี้ของไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เป็นผลจากการลุกลามของวิกฤติเศรษฐกิจและการดิ่งลงของค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ที่ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น ประเทศไทยจึงไม่ควรรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพราะจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก กระทบต่อภาคส่งออก ขณะที่ผลกระทบจากการขยายวงของสงครามทางการค้าจะทำให้ปริมาณการค้าโลกและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสสี่ และคาดว่า สหรัฐจะมีการใช้มาตรการตั้งกำแพงภาษีและกีดกันการค้าต่อประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ ไทย ต่อไปเพื่อลดการขาดดุลการค้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ
ส่วนวิกฤติค่าเงินและการชะลอตัวของเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย อาจลามไปที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งจะกระทบต่อภาคส่งออกของไทยไปอาเซียน ไทยส่งออกไปอินโดนีเซียประมาณ 4% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนยานยนต์ นอกจากนี้ ภูมิภาคอาเซียนเชื่อมโยงกันหมด เช่น สิงคโปร์มีสัดส่วนการส่งออกไปอินโดนีเซีย 8% ก็จะได้รับผลกระทบ และไทยพึ่งพาตลาดสิงคโปร์ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวิกฤติค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ ยังกระทบไทยค่อนข้างจำกัด ประเทศไทยเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด 45-47 พันล้านดอลลาร์ มีทุนสำรองระหว่างประเทศมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ มีหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นไม่มาก อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานยังค่อนข้างต่ำ สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของภาคธุรกิจแม้นเพิ่มขึ้นแต่ยังคงเป็นการกู้เงินในประเทศเป็นหลัก หากเกิดกระแสเงินไหลออกและต้องชำระหนี้ต่างประเทศ ไทยอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถรับมือได้
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยอาจมีความเสี่ยงเรื่องหนี้สาธารณะและฐานะการคลังเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปหากไม่มีการปฏิรูปรายได้ภาครัฐทั้งระบบภาษีและรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขด้วยการสร้าง “ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ” ไทยยังมีปัญหาสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ยังค่อนข้างสูงอยู่ หลังปี พ.ศ. 2546 สัดส่วนรายได้ของครัวเรือนต่อรายได้ประชาชาติลดลงเรื่อยๆ สะท้อนว่า การที่จีดีพีเติบโตดีอาจไม่ได้หมายถึงรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ทั้งปีของครัวเรือนโดยเฉลี่ยในช่วงปี พ.ศ. 2558-2560 สะท้อนรายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยลดลง และมูลค่าหนี้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น มูลค่าหนี้ครัวเรือนโดยรวมของทุกกลุ่มรายได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยมาจากการกู้ยืมของรายได้สูงเป็นหลัก และแม้ว่า การเลือกตั้งในปีหน้าเชื่อว่าจะส่งผลบวกต่อภาคการลงทุน การเปิดเสรีการค้าให้ดีขึ้น อย่างน้อยที่สุดประเทศไทยสามารถเริ่มต้นเจรจาการค้าและการลงทุนกับสหภาพยุโรป(อียู)ได้ มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายค้าน มีเสรีภาพมากขึ้น หากหลังการเลือกตั้งสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยได้ก็จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น-สำนักข่าวไทย