กรุงเทพฯ 7 ก.ย. – ผลศึกษา SEA โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา คาดเสร็จกลางปีหน้า ส่วนศึกษาครบ 15 จังหวัด เสร็จสิ้น ส.ค. 62 แม้ล่าช้ากว่าเอ็มโอยูร่วมกับภาคประชาชนก็หวังจะเข้าใจ
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ แถลงว่า ทางคณะกรรมการฯ เพิ่งจะได้รับอนุมัติเงินจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สกพ. 50 ล้านบาท เพื่อว่าจ้างผู้เข้ามาศึกษาโครงการ จึงทำให้การศึกษาล่าช้ากว่าข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและกลุ่มผู้คัดค้านและเห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ที่ลงนามไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่เดิมคาดว่าจะศึกษาเสร็จเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องงบประมาณ ก็คาดหวังว่าภาคประชาชนจะมีความเข้าใจ
โดยการดำเนินการขณะนี้ สกพ.ได้ออกประกาศ ให้ผู้มีสิทธิ์ยื่นข้อเสนอ ซึ่งผู้มีสิทธิ์ยื่นขอรับการจัดสรร จะต้องเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรไม่แสวงหากำไร (รายละเอียดประกาศ ข้อกำหนด TOR แบบฟอร์มข้อเสนอโครงการฯ ที่ www.energy.go.th) และกระทรวงพลังงานจะเปิดชี้แจง TOR วันที่ 14 กันยายนนี้ และกำหนดระยะเวลาให้ผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอ ภายใน 3 สัปดาห์ (ระหว่างวันที่ 17 กันยายน 2561 ถึง 5 ตุลาคม 2561) คาดว่าจะคัดเลือกและลงนามได้ภายในเดือนพฤศจิกายน โดยต้องศึกษา SEA ทั้ง 15 จังหวัด กำหนดศึกษาเสร็จภายในเวลา 9 เดือน หรือ ประมาณสิงหาคมปี 2562 ยกเว้นพื้นที่กระบี่และเทพาจะต้องได้คำตอบภายใน 5 เดือน หรือประมาณ เมษายนปี 2562
“ใน 5 เดือนแรก คำตอบสำหรับกระบี่และเทพาผู้ศึกษาต้องหาคำตอบให้ได้ว่าในพื้นที่ภาคใต้ต้องมีโรงไฟฟ้าฐานเพิ่มหรือไม่ ถ้ามีต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือ มีโรงไฟฟ้าทางเลือกอื่น ๆ โดยที่ผ่านมา คณะกรรมการได้พยายามเร่งดำเนินการ แต่เมื่อติดขัดเรื่องงบประมาณ ก็ขอให้ภาคประชาชนเข้าใจ”นางสาวนันธิกา กล่าว
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานร่วมฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่าคณะกรรมการฯ ได้กำหนดเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอโครงการที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เพื่อนำไปสู่จุดเริ่มต้นการคลี่คลายสถานการณ์ที่มีข้อขัดแย้งต่อพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ของประชาชนแต่ละกลุ่มอย่างรอบคอบ ยึดหลักดำเนินการด้วยความเป็นกลาง ตามหลักวิชาการที่ได้รับการยอมรับ และจะวางกรอบการดำเนินงานเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ระยะยาว โดยยึดหลักให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้
นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรรมการ SEA กล่าวว่า ครั้งนี้นับว่าเป็นการทำ SEA ที่รับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ยอมรับว่าขยายตัว เพราะนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น แต่ความต้องการขยายตัวเป็นจุด ๆ ดังนั้น จะผลิตเพื่อ FEED ไฟฟ้าเป็นจุด ๆ ได้หรือไม่ โดยความเห็นส่วนตัวแล้วเชื้อเพลิงถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่ OUT ไปแล้ว ประกอบกับประเทศไทยต้องดำเนินการตามข้อตกลงวปารีส ลดสภาวะโลกร้อน การใช้เชื้อเพลิงก็ควรเน้นเชื้อเพลิงสะอาด โดยควรใช้ก๊าซธรรมชาติ ดีกว่า
นายมนูญ ศิริวรรณ กรรมการ SEA กล่าวว่า หากดูความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้กำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าหลักมีเพียงโรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าขนอม กำลังผลิตประมาณ 2,400 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ก็มีกำลังผลิตรวม 2,788 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าขยายตัวใกล้ปีที่แล้วมีความต้องการถึง 2,624 เมกะวัตต์ ขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทศ (กฟผ.) ก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปภาคใต้ สามารถรองรับความต้องการได้อีก 7 ปี แต่คำถามคือมีความมั่นคงมากน้อยเพียงใด และในพื้นที่ต้องการมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่ เพื่อพึ่งพาตนเองหรือไม่ ซึ่งต้องหาคำตอบนี้ ขณะเดียวกันนอกจากความมั่นคงก็ต้องดูต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าด้วย ซึ่งที่ปรึกษาต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนรอบด้าน และให้ประชาชนในพื้นที่เลือกว่าจะตัดสินใจในรูปแบบใด.-สำนักข่าวไทย