กรุงเทพฯ 17 ก.ย.- สวนดุสิตโพลสำรวจความเห็นของประชาชน พบประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนข้อเสนอ กกต. แจก ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง และใบดำ เชื่อช่วยแก้ปัญหาทุจริตเลือกตั้งได้
สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,143 คน ระหว่างวันที่ 13-16 กันยายน 2559 ต่อกรณีที่ กกต. เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับปรับปรุง ตามร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับผ่านประชามติ โดยมีการบัญญัติการลงโทษรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีการแบ่งโทษความผิดไว้ 4 ระดับ คือ ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง และใบดำ เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.80 เห็นว่า เป็นมาตรการที่ดี น่าจะช่วยแก้ปัญหาการทุจริตให้ลดลงได้ ร้อยละ 69.29 เห็นว่า ผู้สมัครทุกคนต้องปฏิบัติตามกฏ ระเบียบ อย่างเคร่งครัด มีจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี และร้อยละ 62.99 เห็นว่า กกต. ควรชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้สมัครให้ชัดเจน
เมื่อถามว่า เห็นด้วยกับวิธีการลงโทษตามที่ กกต. เสนอหรือไม่? โดยกรณีใบเหลือง แจกให้ก่อนหรือในวันเลือกตั้ง ร้อยละ 81.10 เห็นด้วยกับ เพราะเป็นขั้นตอนแรกในการป้องกันการทุจริต ไม่ให้ผู้กระทำผิดได้ลงสมัคร ช่วยคัดกรองได้ในระดับหนึ่ง ร้อยละ 7.35 ไม่เห็นด้วย เพราะ ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ กระทบต่อการจัดการเลือกตั้ง อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ไม่พอใจ
ใบส้ม แจกให้หลังวันเลือกตั้ง ร้อยละ 79.79 เห็นด้วย เพราะผู้สมัครมีความระมัดระวัง และปฏิบัติตามกฎระเบียบมากขึ้น เป็นแบบอย่างให้กับผู้อื่น ถ้ามีหลักฐานชัดเจนควรตัดสิทธิทันที ร้อยละ 10.76 ไม่เห็นด้วย เพราะควรมีเพียง 2 ใบ การมีหลายใบทำให้เกิดความซ้ำซ้อน อาจเป็นการใช้อำนาจมากเกินไป
ใบแดง แจกให้หลังประกาศผลเลือกตั้ง ร้อยละ 76.90 เห็นด้วย เพราะเป็นการลงโทษที่รุนแรง จะได้คัดคนไม่ดีออกไป ผู้กระทำผิดจะได้เกรงกลัว ช่วยป้องกันการทุจริตได้ ร้อยละ 8.40 ไม่เห็นด้วย เพราะควรให้เป็นหน้าที่ของศาล และให้กฎหมายตัดสิน กกต. อาจพิจารณาได้ล่าช้า หากมีการกระทำผิด ควรตัดสินตั้งแต่วันเลือกตั้ง การเลือกตั้งใหม่เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ
ใบดำ แจกให้กรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ร้อยละ 87.40 เห็นด้วย เพราะเป็นการลงโทษขั้นเด็ดขาด เป็นการขุดรากถอนโคน บทลงโทษรุนแรงเหมาะสมดี จะได้เกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิด ทำให้การเลือกตั้งมีความโปร่งใสมากขึ้น ร้อยละ 3.68 ไม่เห็นด้วย เพราะควรลงโทษด้วยวิธีการอื่น บทลงโทษหนักเกินไป ขั้นตอนการพิจารณาความผิดอาจไม่โปร่งใส ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน อาจตัดสินคนผิดได้
เมื่อถามว่า คิดว่าวิธีการตามที่ กกต. เสนอ จะช่วยแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งได้หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 68.50 เห็นว่า ช่วยได้ เพราะเป็นการป้องกันการทุจริต น่าจะช่วยแก้ปัญหาให้ลดลงได้ในระดับหนึ่ง เป็นบทลงโทษที่รุนแรง ทำให้ผู้ที่คิดจะทุจริตเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิด ร้อยละ 8.67 เห็นว่า ช่วยไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาที่มีมานาน แก้ไขได้ยาก กกต.อาจดูแลไม่ทั่วถึง เกิดความยุ่งยาก ควรแก้ที่ต้นเหตุ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของนักการเมือง .- สำนักข่าวไทย